ขณะที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป ประเทศไทยก็เผชิญกับปัญหาท้าทายอื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่สำคัญที่สุดคือ การมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปที่ต้องอาศัยการพัฒนาทักษะอย่างรวดเร็วตามความต้องการของนายจ้าง
รายงานชุดนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับนโยบายเกี่ยวกับความคุ้มครองทางสังคมและตลาดแรงงานในประเทศไทยในบริบทของการมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วยการทำความเข้าใจให้ดีขึ้นเกี่ยวกับการปฏิรูปที่จำเป็นต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย รายงานชุดนี้ให้ภาพรวมของระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย วิเคราะห์ผลกระทบต่อตลาดแรงงานจากการมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น ประเมินระบบดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนระบบบำนาญในประเทศไทย โดยรายงานมีห้าฉบับดังนี้
- การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยและตลาดแรงงานในประเทศไทย – รายงานนี้เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบต่อตลาดแรงงานจากการมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นในบริบทของโลกการทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลง รายงานพบว่าสามารถลดทอนผลกระทบทางลบจากการมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นได้ด้วยการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างชาญฉลาดโดยขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทุนมนุษย์อย่างมีประสิทธิผล [ดาวน์โหลดรายงาน | ดาวน์โหลดบทสรุปผู้บริหาร]
- สู่ความคุ้มครองทางสังคม 4.0 – รายงานนี้พิจารณาทบทวนระบบความคุ้มครองทางสังคมและตลาดแรงงานในประเทศไทยเพื่อหาทางเสริมสร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้นเพื่อจัดการกับจุดเปราะบางต่างๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วและกำลังเกิดขึ้น และส่งเสริมสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนในบริบทของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจและสังคม [ดาวน์โหลดรายงาน | ดาวน์โหลดบทสรุปผู้บริหาร ]
- ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์มหภาคและการคลังจากการมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นในประเทศไทย – รายงานนี้กล่าวถึงผลจากการมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นที่มีต่อสภาพการคลังและเศรษฐศาสตร์มหภาคของประเทศไทย และสำรวจว่าการเปลี่ยนแปลงลักษณะประชากรในประเทศไทยจะส่งผลต่อการเติบโตต่อหัวของประชากรอย่างไรบ้าง [ดาวน์โหลดรายงาน]
- การดูแลประชากรสูงวัยในประเทศไทย – รายงานนี้สำรวจระบบที่มีอยู่ในการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยโดยครอบคลุมประเภทของการดูแลในครอบครัวแบบนอกระบบและในระบบ และมีข้อเสนอแนะในการเสริมความเข้มแข็งให้กับการดูแลผู้สูงอายุในขณะที่ประเทศไทยกำลังมีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น [ดาวน์โหลดรายงาน]
- ระบบบำนาญในประเทศไทย – รายงานนี้สำรวจระบบบำนาญในประเทศไทย พิจารณาประเด็นความยั่งยืนทางการคลัง ปฏิสัมพันธ์กับตลาดแรงงาน และการขยายความครอบคลุม [ดาวน์โหลดรายงาน]