ประเด็นสำคัญ
ประเทศไทยมีความคืบหน้าไปอย่างมากในการมองเห็นปัญหาของการมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นและได้เริ่มดำเนินการปฏิรูปนโยบายและแผนการพัฒนาต่างๆ เพื่อจัดการรับมือในทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น โดยในขณะนี้กำลังดำเนินการขยายการเข้าถึงการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุในระดับชุมชนโดยให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบมีอาสาสมัครที่มีอยู่
รายงานฉบับนี้ประเมินความต้องการในปัจจุบันและอนาคตสำหรับบริการดูแลระยะยาวในประเทศไทย พร้อมกับชี้ถึงโอกาสและข้อจำกัดต่างๆ ในการขยายการเข้าถึงบริการดังกล่าว
- คนไทยสูงอายุส่วนใหญ่ใช้ชีวิตวัยชราอยู่ที่บ้านและมีครอบครัวคอยดูแล แต่การดูแลโดยครอบครัวอย่างที่เคยเป็นมากำลังเป็นเรื่องยากขึ้นทุกทีสำหรับหลายครอบครัวเนื่องจากสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุต่อคนไทยในวัยทำงาน ในอีกสองทศวรรษข้างหน้า คนไทยที่มีอายุเกิน 80 ปีที่ต้องได้รับความช่วยเหลือคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าหกเท่าตัวเป็นเกือบ 2.5 ล้านคน
- ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลยังคงต้องอาศัยการดูแลจากครอบครัวและชุมชนต่อไปเนื่องจากบริการดูแลระยะยาวมีค่าใช้จ่ายสูงและคนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้บริการได้หากไม่มีการอุดหนุนจากรัฐบาล
- ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมบริการดูแลระยะยาวเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง การให้บริการดูแลดังกล่าวจึงยังคงขาดหลักประกันอย่างเพียงพอแม้กระทั่งสำหรับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างมาก (เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อม หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง) และระบบต่างๆ ที่จะช่วยครอบครัวในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็มีความครอบคลุมที่จำกัด
- มีความขาดแคลนบุคลากรดูแลผู้สูงอายุที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างเหมาะสมและขาดการฝึกอบรมที่เหมาะสมสำหรับผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัวและคนทำงานดูแลผู้สูงอายุ
- ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการดูแลผู้สูงอายุเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนทางธุรกิจและการสร้างงาน มีโอกาสและช่องทางเปิดขึ้นในการให้บริการดูแลที่เหมาะสมในราคาที่จ่ายได้ (ที่บ้าน ในชุมชน และในสถานดูแล) สำหรับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาว การพัฒนาทางเลือกในการใช้ชีวิตในชุมชนคนวัยพักผ่อนตลาดบนสำหรับผู้สูงอายุที่มีกำลังจ่ายก็จะสร้างงานขึ้นมาอีกจำนวนมาก
รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของภาคธุรกิจการบริการดูแลระยะยาวดังต่อไปนี้
- เสริมบทบาทของรัฐบาลให้เข้มแข็งในการจัดการดูแลเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการประเมินความต้องการ (ในระดับของการให้บริการ) และการคาดการณ์ความต้องการเกี่ยวกับการดูแล (ในระดับนโยบาย) และพัฒนาระบบข้อมูลที่เชื่อถือได้
- สร้างระบบที่ยั่งยืนทางการคลังสำหรับการอุดหนุนการดูแลระยะยาวเพื่อให้มีการเข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้าโดยอาศัยการประเมินความต้องการ ประเทศไทยสามารถผ่านเข้าสู่ระบบการอุดหนุนการดูแลระยะยาวที่เป็นทางการมากขึ้นด้วยการขยายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้รวมถึงการอุดหนุนการดูแลระยะยาวที่พุ่งเป้าผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นมากที่สุด เป็นต้น
- ส่งเสริมการพัฒนากลุ่มสมาคมธุรกิจและความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชนที่ตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับบริการดูแลระยะยาวในตลาดเอกชน
- สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสนับสนุนของชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพต่ำ
- ลงทุนยกระดับการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรที่ทำงานดูแลและพิจารณาหาทางใช้ประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติในกรณีที่แรงงานในประเทศมีไม่เพียงพอ
- พิจารณาทบทวนและค่อยๆ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ