ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
คุณตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน เพื่อนร่วมงาน และ เพื่อนทุกท่าน
สวัสดีครับ วันนี้เราอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในกรุงเทพ เรากำลังลงนามในสัญญาบริการให้คำปรึกษาระหว่างไทยและธนาคารโลกเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นโอกาสสำคัญ และผมมีความยินดีมากที่ได้มีโอกาสมาอยู่ที่นี่พร้อมกับทุกท่าน
ผมขอเล่าถึงเหตุผลว่าทำไมผมจึงมีความสุข โดยส่วนตัวแล้ว การลงนามในวันนี้ทำให้ผมย้อนระลึกถึงความทรงจำในอดีต เมื่อ 30 ปีก่อนผมกำลังศึกษาเศรษฐศาสตร์และเขียนสารนิพนธ์เกี่ยวกับการประกันภัย หลังจากนั้น 2 ปีผมทำงานเป็นนักวิเคราะห์ตลาดประกันภัยของเยอรมันที่บริษัทแม็คเคนซี่ที่ประเทศเยอรมันนี ซึ่งนับเป็นงานวิชาชีพแรกของผม เรื่องตลาดประกันภัยก็อยู่ในใจผมจากนั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบัน การประกันภัยนับเป็นอุตสาหกรรมเชิงซ้อนขนาดใหญ่ที่สำคัญมากต่อเศรษฐกิจในประเทศที่การพัฒนาแล้ว ทั้งในประเทศเยอรมันนีซึ่งเป็นบ้านเกิดของผมและประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การประกันภัยยังไม่ได้รับการพัฒนาให้อยู่ในระดับเดียวกัน ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หรือ แม้แต่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงและเศรษฐกิจก้าวหน้า คนหลายคนในโลกนี้มีชีวิตโดยปราศจากการคุ้มครองจากระบบการประกันภัย ไม่มีประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันภัยที่อยู่อาศัย และประกันรถยนต์
ในประเทศไทย ตลาดประกันภัยเติบโตรวดเร็วกว่าจีดีพีอย่างมีนัยสำคัญ หากทว่าปัจจุบันนี้ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีประกันภัย ดังนั้นตลาดประกันภัยจึงมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างมาก
การที่ตลาดประกันภัยของไทยสามารถเติบโตได้นั้น หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าคนไทยอีกมากยังสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยซึ่งทำให้เขาสามารถปกป้องตัวเอง ชีวิตความเป็นอยู่ และทรัพย์สิน แล้วเรื่องนี้สำคัญอย่างไร? เรื่องนี้สำคัญเพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดจู่โจมเข้ามา เช่น ระหว่างน้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ หลายคนคงยังจำถึงเหตุการณ์มหาอุทกภัยในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้ คนที่มีประกันภัยจึงจะได้รับการคุ้มครอง
ที่ธนาคารโลก เราทำงานช่วยลดความยากจนและช่วยเหลือคนจน คนด้อยโอกาส ซึ่งคนจนและคนด้อยโอกาสมักจะไม่มีประกันภัยและไม่ได้รับการคุ้มครองเวลาป่วยหรือเวลาเกิดภัยพิบัติ การประกันภัยในราคาที่จ่ายได้นั้นจะช่วยปกป้องประชาชน คนจนและช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้
ทำไมคนไทยและคนในอีกหลายประเทศจำนวนมากถึงไม่มีประกันภัย? ผมมีครอบครัวเป็นคนไทย พวกเขารู้เรื่องประกันภัย มีคนในครอบครัวผมคนหนึ่งขายประกันภัย แต่อย่างไรก็ดี คนไทยหลายคนยังไม่มีประกันภัย ทำไมหรือครับ? คนไทยจำนวนมากรู้เรื่องประกันภัย แต่ไม่สามารถเข้าถึงการประกันภัยได้สะดวก ไม่สามารถหาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละคน การประกันรถยนต์มีแนวโน้มที่จะมีการแข่งขันสูง และสามารถจ่ายได้ แต่ประกันที่อยู่อาศัยยังมีราคาแพงและหาประกันภัยที่เหมาะสมได้ยาก
เราจะพัฒนาตลาดประกันภัยให้มีความเข้มแข็งได้อย่างไร หากทำได้แล้วจะมีคนซื้อประกันภัยและได้รับการคุ้มครองมากขึ้นไหม? กฎหมายกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพและมีผลใช้บังคับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับตลาดประกันภัยที่เข้มแข็ง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสามารถรับประกันว่าตลาดจะมีความเข้มแข็งและครอบคลุมได้ แต่มันมีความจำเป็นที่จะต้องมีตลาดประกันภัยที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งในประเทศ ซึ่งหากขาดปัจจัยสำคัญข้อนี้แล้วอาจทำให้ตลาดประกันภัยไม่สามารถเติบโตและอาจล้มเหลวได้โดยง่าย คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงมีความสำคัญเสมือนน้ำมันหล่อเลี้ยงกลไกด้านกฎหมายกฎระเบียบให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นอันจะช่วยพัฒนาการประกันภัยของไทย สัญญาบริการให้คำปรึกษาที่เราลงนามในวันนี้จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายนี้
ท้ายสุดนี้ ผมมีความยินดีที่เราได้ร่วมกันเพื่อช่วยให้เกิดความสำเร็จในเรื่องใหม่และมีนวัตกรรม ทีมงานของเราทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและจากธนาคารโลกได้ทำงานร่วมกันอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ตั้งแต่ผมได้มาประจำที่สำนักงานประเทศไทยเมื่อ 3 ปีก่อน เป้าหมายที่ว่านี้ คือ ช่วยให้ประเทศไทยได้เข้าถึงเทคนิคความรู้ ประสบการณ์การดำเนินงาน และความเชี่ยวชาญระดับสากลของธนาคารโลกเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ สร้างงานและปกป้องคนจน การที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง มีความสามารถและมีเงินทุนที่จะพัฒนาการทำงานได้ด้วยทรัพยากรของตัวเอง ประเทศไทยได้แจ้งความประสงค์กับธนาคารในเรื่องคำแนะนำที่เหมาะสมกับความต้องการของประเทศในขณะนี้เพื่อให้สามารถนำไปใช้ดำเนินการได้
การลงนามในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารโลกร่วมงานกับประเทศไทยในแนวทางการดำเนินงานใหม่นี้ เราได้ร่วมมือกันด้วยความมุ่งมั่น ความพยายาม และความยืดหยุ่นจากทั้ง 2 ฝ่ายจนมาถึงจุดนี้ นับเป็นความก้าวหน้าของความร่วมมือไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งสมควรได้รับการฉลองร่วมกัน
ด้วยเหตุและผลต่างๆ เหล่านี้ ผมจึงยินดีที่ได้มีโอกาสมาอยู่ที่นี่วันนี้
ผมอยากขอแสดงความชื่นชมและความเคารพแก่ท่านเลขาธิการ และท่านรองเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย งานที่เราร่วมมือกันในครั้งนี้ คือการประเมินตนเองในเรื่องกฎหมายกฎระเบียบการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย การที่ท่านได้ให้ทางธนาคารโลกซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระมาช่วยและให้คำแนะนำแก่หน่วยงานท่านในการประเมินระบบนั้น นับว่าท่านได้เปิดเผยการทำงาน ท่านได้ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเรา ซึ่งต้องใช้ความกล้าหาญ ผมจึงอยากแสดงความชื่นชมต่อแนวคิดนี้และสัญญาว่าเราจะทำงานอย่างสุดความสามารถเพื่อให้สมกับที่ท่านได้ให้ความไว้วางใจ
ขอบคุณทุกท่านมากครับ