ไทยควรเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับการรับมือกับสังคมสูงอายุ
กรุงเทพฯ 28 มิถุนายน 2559 – รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกที่ได้เปิดตัววันนี้พบว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.5 ในปีพ.ศ. 2559 หลังจากเติบโตที่ร้อยละ 2.8 ในปีที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวลงและการส่งออกยังคงลดลง ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง การเงินและการคลังที่เข้มแข็งช่วยปกป้องให้ไทยพ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับลมปะทะต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึง รายงานนี้พบว่าการที่เศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงได้ทำให้เห็นถึงความท้าทายในการดำเนินการลงทุนภาครัฐ การคงอัตราหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ การที่อายุของประชากรวัยทำงานสูงขึ้นจะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยภายใน 5 ปีข้างหน้า
“ผมมีความยินดีที่ได้เห็นธนาคารโลกให้ความสำคัญกับรัฐบาลไทยที่พยายามช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายแนวทาง ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การปฏิรูปการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและรัฐวิสาหกิจในระยะยาวเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม” นายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลังกล่าว
ประชากรวัยทำงานของไทยคาดว่าจะลดลงอีกร้อยละ 11 จากเดิมที่มีจำนวน 49 ล้านคนในปีนี้จะลดลงเหลือ 40.5 ล้านคนในปีพ.ศ. 2583 การคาดการณ์นี้จะเห็นว่าไทยมีประชากรวัยทำงานลดลงมากที่สุดกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ดังนั้นการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานจึงมีความสำคัญมาก
เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูงอื่นๆ แล้วประชากรสูงวัยของไทยมีรายได้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก ซึ่งช่วยย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการปฏิรูปนโยบายหลายด้าน ทั้งด้านบำนาญ การดูแลสุขภาพ และการดูแลผู้สูงวัยในระยะยาว
“ในขณะที่ประเด็นเรื่องประชากรสูงวัยกำลังท้าทายประเทศไทย หากแต่ก็ยังเป็นโอกาสในการนำการปฏิรูปที่สำคัญไปดำเนินการซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสูงวัยให้มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพสำหรับคนไทยมากขึ้น” นายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “การเตรียมการรับสังคมสูงวัยนับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับไทยที่จะปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและยกระดับทักษะให้สูงขึ้นอันเนื่องมาจากกำลังแรงงานที่ลดลง การเพิ่มจำนวนผู้หญิงเข้าสู่ตลาดงาน และการให้ความมั่นใจว่าการดูแลผู้สูงวัยจะมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและยั่งยืน”
ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตสดใส และมีจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 6.3 ในปี พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นภูมิภาคที่มีประชากรรวมกันถึง 600 ล้านคนซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญพร้อมด้วยศักยภาพทั้งด้านมนุษย์และทรัพยกร ประเทศไทยสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสทั้งด้านการค้าและการลงทุนเหล่านี้ได้ ทั้งนี้เนื่องจากไทยกำลังดำเนินการปฏิรูปทั้งด้านการศึกษา ขีดความสามารถในการแข่งขัน และทักษะเพื่อสร้างอนาคตที่รุ่งเรืองให้แก่คนรุ่นต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจได้ว่าจะมีการดูแลคนรุ่นเก่าในแนวทางที่ยั่งยืน