รายงานฉบับใหม่กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ นำนโยบายการคุ้มครองทางสังคมไปปรับใช้ เพื่อครอบคลุมแรงงานได้มากขึ้น
จาการ์ตา 8 พฤษภาคม 2557 – ในขณะที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เติบโตไปอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลให้ประชากรผู้ใช้แรงงานในประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออก มีสัดส่วนขอบคนใช้แรงงานจำนวนมากที่สุดของโลก ผู้กำหนดนโยบายจึงควรใช้กฎระเบียบด้านแรงงานและนโยบายคุ้มครองสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อแรงงานทุกคน รวมไปถึงแรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ รายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลกเรื่อง เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกับการทำงาน การจ้างงาน วิสาหกิจ และสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นได้ระบุไว้
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้ประจักษ์ต่อผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่ประชากรโยกย้ายเข้าสู่เมือง ตลอดจนผลผลิตจากภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิต และ ภาคการบริการที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศที่เคยตกอยู่ในความยากจนในคนชั่วรุ่นที่แล้ว สามารถบูรณาการตนเองให้เข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกได้สำเร็จ โดยอาศัยข้อได้เปรียบด้านของค่าแรงต่ำ ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ มีสัดส่วนของประชากรที่ทำงานหรือที่หางานทำ ซึ่งรวมถึงผู้หญิง ในอัตราสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้อยู่ในระดับเดียวกัน
“การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ถือเป็นประวัติการณ์ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้สร้างงาน และยกระดับคนนับล้านให้พ้นจากความยากจน และยังเป็นชัยชนะของผู้ใช้แรงงานอีกด้วย” นายแอ็กเซล ฟาน ทร็อตเซ็นเบิร์ก รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว “ถึงเวลาแล้ว ที่จะทำให้การเติบโตเหล่านี้มีความมั่นคง โดยการปรับใช้นโยบายทางสังคมที่ให้ความคุ้มครองประชาชน ไม่ใช่เพียงเฉพาะกับภาคส่วนใด ในพื้นที่ใด หรือเพื่อกลุ่มอาชีพใด เพียงกลุ่มเดียว หากได้รับการออกแบบที่ดี นโยบายที่ดีควรร่างมาเพื่อให้การคุ้มครองทางสังคม และกฎระเบียบแรงงานได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดให้กับแรงงานที่ด้อยโอกาสที่สุดในสังคมได้”
ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเริ่มชะลอตัวลง และค่าแรงถีบตัวสูงขึ้น ข้อจำกัดของตลาดแรงงาน รวมถึงนโยบายความคุ้มครองทางสังคมในภูมิภาค ก็กำลังกลายเป็นประเด็นเร่งด่วน แม้ว่านโยบายเหล่านั้นจะเขียนไว้อย่างเข้มงวด หากแต่มักถูกนำไปบังคับใช้ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิง เยาวชน และแรงงานมีทักษะน้อยกว่า อาทิ ภารโรงและคนขายอาหาร จำเป็นต้องทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง ไม่มีกฎระเบียบบังคับ ไม่มีการจ่ายภาษี หรือแม้กระทั่งต้องไม่มีงานทำ
แผนรองรับการว่างงานที่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินในระดับประเทศและมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้นายจ้างสามารถหลีกเลี่ยงแผนประกันสุขภาพราคาแพง แล้วยังช่วยลดภาษีแรงงาน รวมถึงช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าสู่ระบบได้ ตัวอย่างเช่น นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย นับเป็นรูปแบบการประกันสังคมที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย ที่อาจสูงจนทำให้สิ้นเนื้อประดาตัว ตลอดจนนำไปสู่การใช้บริการทางการแพทย์ที่แพร่หลายมากขึ้น
รายงานฉบับนี้ ซึ่งเป็นการติดตามผลจากรายงานการพัฒนาโลกว่าด้วยการทำงาน ประจำปี 2556 ของธนาคารโลก ได้มีส่วนในการนำเสนอหลักฐานที่ได้จากการศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของนโยบายการจ้างงานและทางเลือกในการปฏิรูปในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เศรษฐกิจที่มีความหลากหลายในภูมิภาคนี้ มีตั้งแต่เศรษฐกิจชนบทเป็นส่วนใหญ่ไปจนถึงความเป็นเมือง และจนถึงหมู่เกาะเล็กๆ ที่ห่างไกล ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งได้ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและทางประชากรที่เกิดขึ้นในภูมิภาค รวมถึงประวัติศาสตร์แรงงานที่ยังไม่ยาวนานมากนัก ส่งผลให้เกิดความเร่งด่วน รวมถึงโอกาสให้กับหลายต่อหลายประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่จะนำแบบจำลองความคุ้มครองทางสังคมแบบใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำลง มาปฏิบัติได้มากกว่าประเทศในภูมิภาคอืนๆ ที่มีนโยบายอันถูกกำหนดมายาวนานกว่า
“การดำเนินธุรกิจไปตามปกติไม่ใช่ทางเลือก” เบิร์ท ฮอฟแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก กล่าว “ผลลัพธ์จากการไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางสวัสดิการจากการทำงาน จะส่งผลเสียต่อความเป็นปึกแผ่นทางสังคม และในขณะที่การเติบโตเริ่มชะลอตัวลงนั้น ก็จะส่งผลให้ผลิตภาพหยุดชะงักลง อีกทั้งยังเป็นตัวจำกัดมาตรฐานการครองชีพอีกด้วย”
ในรายงานยังได้กล่าวอีกว่า นโยบายการจ้างงานที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ประสบความล้มเหลวในการให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานส่วนใหญ่ แต่กลับสร้างผลประโยชน์แก่ผู้ชายในช่วงสูงสุดของวัยทำงานที่รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนประจำ มากกว่าผู้หญิง เยาวชน และแรงงานฝีมือต่ำ หลักฐานจากการศึกษาวิจัย ยังชี้ให้เห็นว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงตัวขึ้นในอินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ได้ลดโอกาสในการจ้างงานของผู้หญิง และเยาวชนลงอย่างผิดสัดส่วน
ทั่วทั้งภูมิภาค กว่าร้อยละ 30 ของคนช่วงอายุ 15 – 24 ปี ถูกเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิง คนเหล่านี้ไม่มีงานทำ หรือไม่แม้แต่ได้รับการศึกษาหรือการฝึกอบรม ซึ่งส่งผลให้เกิดการแยกล่วนและกีดกันตลาดแรงงาน ตลอดจนความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบและความรุนแรงทางสังคม ในขณะเดียวกัน ค่าแรงของแรงงานมีฝีมือที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรับประโยชน์จากนโยบายในปัจจุบัน ก็ทำให้ความไม่เสมอภาคเพิ่มขึ้นในบางประเทศ
และเพื่อให้ภูมิภาคนี้ก้าวต่อไปในทิศทางที่ถูกต้อง รายงานฉบับนี้จึงได้เสนอให้ประเทศต่างๆ มองไปให้ไกลกว่าตลาดแรงงาน ตลอดจนมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ประเด็นพื้นฐาน อาทิ นโยบายต่างๆ ที่สามารถสร้างเสถียรภาพให้กับราคาสินค้า ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและการคิดค้นนวัตกรรม รวมทั้งสนับสนุนกรอบกฏระเบียบที่ช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและย่อม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้จ้างงานแก่คนส่วนใหญ่ในภูมิภาค
“นโยบายอุตสาหกรรมที่มีการบริหารแบบบนลงล่าง ประสบผลสำเร็จน้อยลงในระบบเศรษฐกิจโลกที่มีความบูรณาการและมีพื้นฐานอยู่บนกฏข้อบังคับมากขึ้น” นายทรูแมน แพคการ์ด หนึ่งในผู้เขียนรายงานหลักกล่าว “ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาการปฏิรูปนโยบายต่างๆ อย่างรอบด้าน และนำนโยบายที่ให้ความคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทั้งหมดมาปฏิบัติ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะทำกิจการส่วนตัว หรือจ้างคนอื่นมาทำงานให้ตนก็ตาม”
แน่นอนว่าสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไปในภูมิภาคนี้ จำเป็นต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายที่แตกต่างกันไป สำหรับหลายๆ ประเทศที่ยังคงพึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลักนั้น รายงานฉบับนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ผู้กำหนดนโยบายควรมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพทางเกษตรกรรม รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจนอกเหนือจากการเกษตร และสำหรับเศรษฐกิจแบบเมือง เช่น จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รายงานดังกล่าว ก็ได้เสนอให้รัฐบาลมุ่งเน้นการสร้างให้ชุมชนเมืองดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาการให้บริการ
สามารถหารายงานนี้ได้ที่ www.worldbank.org/eap/atwork
Visit us on Facebook: www.facebook.com/worldbank
Be updated via Twitter: www.twitter.com/worldbankasia