Skip to Main Navigation
เรื่องเด่น วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นกุญแจสำคัญต่ออนาคตของอาเซียนและประเทศไทย

Image

เหล่าผู้ร่วมเสวนาที่งานสัมมนา ASEAN: Invest in me  

ชฎิล เทพวัลย์/ธนาคารโลก


เรื่องเด่น

  • การพัฒนาต้นทุนมนุษย์คือการลงทุนในประชาชนเพื่อให้เกิดความทัดเทียมกันในสังคมและเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นในอนาคต
  • การลงทุนในต้นทุนมนุษย์โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการลงทุนที่เกี่ยวกับเด็ก งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการลงทุนเหล่านี้มีผลตอบแทนที่สูงมาก มากเกินกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนทางกายภาพ
  • ในปัจจุบัน ประชากรในวัยทำงานของประเทศไทย (อายุระหว่าง 20-59 ปี) คิดเป็นร้อยละ 58.9 ของประชากรทั้งหมด แต่ภายในสองทศวรรษข้างหน้าประชากรกลุ่มนี้จะเหลือน้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีอายุมากขึ้น ดังนั้นในปัจจุบัน การพัฒนาต้นทุนมนุษย์จึงกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อการเพิ่มผลิตภาพของกำลังคนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในไม่ช้านี้

เทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนในหลายๆด้านซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตและการทำงานอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถคาดการณ์ได้ ในปัจจุบันไม่มีผู้ใดที่จะสามารถทำงานใดงานหนึ่งได้ตลอดชีวิตเพราะว่ามันมีโอกาสที่เทคโนโลยีนั้นจะเข้ามาทำให้งานที่มีอยู่ในปัจจุบันล้าสมัยไปได้อย่างรวดเร็ว งานประเภทใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีตจะบีบบังคับให้ทุกคนต้องออกจากสภาวะที่คุ้นเคยเพื่อมาทำสิ่งต่างๆในรูปแบบใหม่ การพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ไม่เคยยุดยั้งเรียกร้องให้เกิดทักษะทั้งสามประการที่คนวัยทำงานรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีนั้นคือ ทักษะทางปัญญา ทักษะสังคม และทักษะในการปรับตัว

การผสมผสานของทักษะทางปัญญาขั้นสูงนับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในตลาดแรงงานทั่วโลก ตามรายงานของธนาคารโลก World Development Report 2019: The Changing Nature of Work เช่น ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะพฤติกรรมทางสังคม เช่น ความขยันหมั่นเพียรและการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นซึ่งจะทำให้การทำงานเป็นทีมนั้นก้าวไปได้อย่ามั่นคง และทักษะในการปรับตัว เช่น การใช้เหตุและผลและการรับรู้ความสามารถของตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ  ดังนั้นคำถามคือประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจว่าประเทศของตนเองมีกำลังคนที่มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในอนาคต? คำตอบโดยสังเขปก็คือการพัฒนาทุนมนุษย์ หรือถ้าจะเรียกให้ง่ายกว่านี้ก็คือ การลงทุนในประชาชนนั่นเอง

“เรากำลังพูดถึง (การลงทุนใน) สุขภาพ โภชนาการ การศึกษาและทักษะต่างๆที่ทำให้ประชาชนสามารถมีชีวิตที่ดีและเจริญรุ่งเรืองได้” ดร. กาเบรียล เดอมอมบายส์หัวหน้าโครงการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จากธนาคารโลก ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนา ASEAN: Invest in Me ซึ่งจัดโดยธนาคารโลกและสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ กรุงเทพฯเมื่อเดือนที่ผ่านมา

โครงการ Human Capital ของธนาคารโลกนั้นได้สนับสนุนให้ประเทศต่างๆเร่งการลงทุนในบุคลากรให้มากขึ้นและดียิ่งขึ้นเพื่อความเท่าเทียมและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น แต่การพัฒนาทุนมนุษย์ควรจะเริ่มจากจุดไหน?

 “วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาทักษะต่างๆอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางลักษณะของงานคือการเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่นๆ” ดร.เบอร์กิท ฮานสล์ผู้จัดการประเทศของธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว  “การลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆในด้านโภชนาการ สุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม และการศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาทักษะทางปัญญาและทักษะพฤติกรรมทางสังคมในอนาคต”


"นักเรียนในวันนี้ไม่ควรได้รับการเรียนการสอน “แบบเก่า” อีกต่อไป"
Image
ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย
รองอธิการบดีสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มัลติมีเดีย

A child born in ASEAN today will achieve only 59% of their full productivity potential. For ASEAN countries to provide a more sustainable, equitable and prosperous future for all its people, investing in education, healthcare and social protection programs will be key to building strong human capital.

Image

ดร.กาเบรียล เดอมอมบายส์: การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของประเทศในกลุ่มอาเซียน

ชฎิล เทพวัลย์/ธนาคารโลก


การลงทุนในโภชนาการนับตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เกือบจะหนึ่งในสามของประชากรเด็กในอาเซียนหยุดยั้งการเจริญเติบโตอันเนื่องมาจากภาวะการขาดสารอาหารอย่างเรื้อรังซึ่งมีผลทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความบกพร่องทางปัญญาและทางกายภาพไปตลอดชีวิต คุณภาพการศึกษาของหลายๆประเทศในภูมิภาคก็เผชิญกับความท้าทายต่างๆ โดยร้อยละ 21 ของประชากรเด็กนั้นไม่สามารถอ่านหนังสือได้เมื่อเรียนจบประถมศึกษาตอนปลาย ตามที่ ดร. เดอมอมบายส์ ได้กล่าวไว้

ในประเทศไทย สถานการณ์นั้นเลวร้ายยิ่งกว่า “ในปัจจุบัน หนึ่งในสามของเด็กอายุ 15 ปีไม่สามารถอธิบายความหมายของข้อความที่เขาอ่านได้” โทมัส เดวิน ผู้แทนจากองค์กรยูนิเซฟประจำประเทศไทยกล่าว นั่นหมายความว่าเด็กจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการที่จะจัดการกับชีวิตประจำวันหรืองานที่ต้องอาศัยทักษะการอ่านที่สูงกว่าระดับการอ่านขั้นพื้นฐาน

การศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็เป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากเป็นพื้นฐานของนวัตกรรมโดยมีมหาวิทยาลัยต่างๆทำหน้าที่สำคัญในการให้ความรู้และพัฒนาการคิดเชิงวิพากษ์ แต่การเรียนการสอนด้วยวิธีแบบดั้งเดิมและการอ่านเฉยๆนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป “เด็กนักเรียนมองหารูปแบบทางการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ค้นคว้าเชิงพลวัตรและการมีส่วนร่วมมากขึ้น  พวกเขามองหาการเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ที่มีต่อโลกภายนอกที่แท้จริง” ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดีสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวในงานสัมมนา

นายอธิชชัย วณาไพศร นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นด้วยว่า “การสอบไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคิด การสอบส่งเสริมให้เด็กนักเรียนทำตามคำสั่งมากกว่าที่จะคิดเชิงวิพากษ์เป็นด้วยตัวเอง ทักษะที่สำคัญมากไปกว่านี้คือความสามารถในการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้”

ในการที่จะแก้ไขปัญหาการศึกษาของประเทศไทยให้ตรงจุดนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดทำแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่ประกอบไปด้วยสามสถาบันคือ 1) สถาบันนวัตกรรมบูรณาการ (School of Integrated Innovation: ScII) ซึ่งจัดให้มีการศึกษาที่พัฒนาทักษะความสามารถหลายด้าน มุ่งสู่อนาคต และเน้นความต้องการของตลาด 2) ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาฯ (Chulalongkorn University Technology Center: UTC) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับงานวิจัยที่สร้างผลกระทบและการศึกษาในรายละเอียดของเทคโนโลยีต่างๆ และ 3) เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District: SID) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยใช้พื้นที่ของสยามแสควร์ในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมเชิงนวัตกรรม

ศาสตราจารย์ ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับปัญหาใหญ่อีกอันนึงนั่นก็คือปัญหาประชากรผู้สูงวัย ในปัจจุบันร้อยละ 58.9 ของประชากรไทยอยู่ในวัยทำงาน (อายุระหว่าง 20-59 ปี) แต่ภายในปีพ.ศ. 2587 ประชากรกลุ่มวัยทำงานจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะมีผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจเนื่องจากจะมีประชากรหลายคนที่ต้องดำรงชีวิตอยู่โดยพึ่งเงินบำนาญ หรือเงินออม แต่จะมีคนจำนวนน้อยกว่าที่ทำงานและจ่ายภาษี ภาระอันยิ่งใหญ่นั่นก็คือการให้บริการทางสุขภาพและสวัสดิการทางสังคมในขณะที่รายได้ของรัฐบาลอาจจะลดน้อยลงเรื่อยๆ

“เรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ รัฐบาล ผู้นำทางธุรกิจ และสถาบันการศึกษา จะต้องเข้าใจถึงขนาดของการเปลี่ยนแปลงและจะต้องคิดว่าเราจะพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างไร” ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์กล่าว

ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ให้เหตุผลว่าทำไมแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศของประเทศไทยจึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเสริมสร้างทักษะใหม่ พัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่ให้แข็งแกร่ง อบรม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้เพื่อเป็นการรับรองว่าบุคลากรในวัยทำงานนั้นมีประสิทธิภาพตลอดจนช่วงสุดท้ายของการทำงานและตลอดไป นายปรเมศวร์ นิสากรเสน รองประธานธุรกิจภูมิภาคของกลุ่มสยามซีเมนต์ (เอสซีจี) มองเห็นคุณค่าของกลยุทธ์และตั้งคำถามว่าการเกษียณที่อายุ 60 ปีนั้นยังเป็นสิ่งที่เหมาะสมอยู่หรือไม่

“เราอยากเห็นคนที่อยู่ในวัยเกษียณมีโอกาสได้เรียนรู้และช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง เอสซีจีต้องการสนับสนุนให้พวกเขาได้เรียนรู้ไปตลอดชีวิต” นาย ปรเมศวร์กล่าว และทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราจำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ตลอดช่วงระยะเวลาของชีวิต อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง



Api
Api