เทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนในหลายๆด้านซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตและการทำงานอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถคาดการณ์ได้ ในปัจจุบันไม่มีผู้ใดที่จะสามารถทำงานใดงานหนึ่งได้ตลอดชีวิตเพราะว่ามันมีโอกาสที่เทคโนโลยีนั้นจะเข้ามาทำให้งานที่มีอยู่ในปัจจุบันล้าสมัยไปได้อย่างรวดเร็ว งานประเภทใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีตจะบีบบังคับให้ทุกคนต้องออกจากสภาวะที่คุ้นเคยเพื่อมาทำสิ่งต่างๆในรูปแบบใหม่ การพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ไม่เคยยุดยั้งเรียกร้องให้เกิดทักษะทั้งสามประการที่คนวัยทำงานรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีนั้นคือ ทักษะทางปัญญา ทักษะสังคม และทักษะในการปรับตัว
การผสมผสานของทักษะทางปัญญาขั้นสูงนับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในตลาดแรงงานทั่วโลก ตามรายงานของธนาคารโลก World Development Report 2019: The Changing Nature of Work เช่น ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะพฤติกรรมทางสังคม เช่น ความขยันหมั่นเพียรและการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นซึ่งจะทำให้การทำงานเป็นทีมนั้นก้าวไปได้อย่ามั่นคง และทักษะในการปรับตัว เช่น การใช้เหตุและผลและการรับรู้ความสามารถของตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ดังนั้นคำถามคือประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจว่าประเทศของตนเองมีกำลังคนที่มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในอนาคต? คำตอบโดยสังเขปก็คือการพัฒนาทุนมนุษย์ หรือถ้าจะเรียกให้ง่ายกว่านี้ก็คือ การลงทุนในประชาชนนั่นเอง
“เรากำลังพูดถึง (การลงทุนใน) สุขภาพ โภชนาการ การศึกษาและทักษะต่างๆที่ทำให้ประชาชนสามารถมีชีวิตที่ดีและเจริญรุ่งเรืองได้” ดร. กาเบรียล เดอมอมบายส์หัวหน้าโครงการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จากธนาคารโลก ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนา ASEAN: Invest in Me ซึ่งจัดโดยธนาคารโลกและสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ กรุงเทพฯเมื่อเดือนที่ผ่านมา
โครงการ Human Capital ของธนาคารโลกนั้นได้สนับสนุนให้ประเทศต่างๆเร่งการลงทุนในบุคลากรให้มากขึ้นและดียิ่งขึ้นเพื่อความเท่าเทียมและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น แต่การพัฒนาทุนมนุษย์ควรจะเริ่มจากจุดไหน?
“วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาทักษะต่างๆอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางลักษณะของงานคือการเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่นๆ” ดร.เบอร์กิท ฮานสล์ผู้จัดการประเทศของธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “การลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆในด้านโภชนาการ สุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม และการศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาทักษะทางปัญญาและทักษะพฤติกรรมทางสังคมในอนาคต”