ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนทั่วโลกประมาณ 1.35 ล้านคน รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยบนท้องถนนโลกชี้ว่าปัจจุบันการบาดเจ็บจากการจราจรบนท้องถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 8 สำหรับคนทุกวัยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กและคนหนุ่มสาวในช่วงอายุ 5-29 ปี
รายงานประจำปีพ.ศ. 2562 สำหรับกรุงเทพฯ โดยมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรบนท้องถนนสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่มีประชากร 5.7 ล้านคน และมีจำนวนยานพาหนะจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นมอเตอร์ไซค์ถึงร้อยละ 36 ในปีพ.ศ. 2559 มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนของกรุงเทพฯ กว่า 850 คน
ขณะที่อุบัติเหตุบนท้องถนนบางส่วนสามารถคาดการณ์และป้องกันได้ ความพยายามในการลดการเกิดอุบัติเหตุลงอย่างเป็นระบบในสภาพการณ์ที่มีทรัพยากรจำกัดก็เผชิญอุปสรรคจากการขาดข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุและสุขภาพที่ระบุพื้นที่และความแม่นยำเพื่อสนับสนุนการดำเนินการแบบมุ่งเป้าเฉพาะ ดังที่นายไมเคิล บลูมเบิร์กกล่าวไว้ว่า “หากคุณวัดมันไม่ได้ คุณก็จัดการมันไม่ได้”
ในเรื่องนี้ ธนาคารโลกและองค์กรอื่น ๆ อีกเก้าแห่งได้ร่วมกับโครงการของมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนโลกอันเป็นโครงการความร่วมมือมูลค่า 125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่มุ่งลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บสาหัสจากการจราจรในเมืองต่าง ๆ สิบแห่งของประเทศกำลังพัฒนา
นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว เมืองอื่นๆ อีกเก้าแห่งก็คือ อักกรา ประเทศกานา แอดดิสอบาบา ประเทศเอธิโอเปีย บันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ฟอร์ทาเลซา ประเทศบราซิล นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม มุมไบ ประเทศอินเดีย เซาเปาโล ประเทศบราซิล และเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ภายใต้โครงการนี้ แต่ละเมืองจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับจ้างเจ้าหน้าที่สามคนเพื่อทำงานให้กับแนวคิดริเริ่มเรื่องปลอดภัยบนท้องถนนอย่างเต็มเวลาให้กับของหน่วยงานในแต่ละเมือง เช่น สำนักการจราจรและขนส่งของกรุงเทพมหานคร
“นี่เป็นโครงการที่ดีที่ไม่เพียงแต่พัฒนายุทธศาสตร์ความปลอดภัยบนท้องถนนที่อาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์เท่านั้น แต่ยังดำเนินการทุกด้านที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยบนท้องถนนอีกด้วย ตั้งแต่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสารและการผลักดันการบังคับใช้กฎหมาย” นวลอนงค์ พันธุ์กำแหง ผู้ประสานงานโครงการจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์กล่าว “การมีภาคีระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางช่วยให้แน่ใจได้ว่าโครงการจะดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ”
ธนาคารโลกและองค์การอื่น ๆ ที่ร่วมมือกันได้ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการอบรมและการสร้างศักยภาพ จนถึงขณะนี้มีการอบรมผู้เชี่ยวชาญไปแล้วกว่า 450 คนเกี่ยวกับวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนน
ในโครงการนี้ ธนาคารโลกยังร่วมกับโครงการตรวจประเมินสภาพถนนนานาชาติ (iRAP) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการตรวจสอบถนนที่มีความเสี่ยงสูงระยะทางกว่า 1,000 กม.ในช่วงปีพ.ศ. 2558–2561 หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงถนนกว่า 8 กม.ในพื้นที่อโศก สีลม และเยาวราช