นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาขึ้น ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างก็เลี่ยงไม่พ้นที่ต้องปรับเปลี่ยนจากระบบสุขภาพที่มีแหล่งทุนอุดหนุนมาสู่ระบบที่ต้องอาศัยงบประมาณของตนเอง ซึ่งจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยากลำบากด้วยเงินทุนจากภายนอกหดหายไปขณะที่มีความจำเป็นต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในการจัดสรรเงินทุนภายใน และนี่เป็นภารกิจของแหล่งทุนและหุ้นส่วนในการพัฒนาอย่างเช่น ธนาคารโลก ที่จะช่วยให้ประเทศเหล่านี้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น
แต่การโน้มน้าวคนในภาคการคลังให้ยอมปล่อยงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ยของตนนั้นจำเป็นต้องอาศัยแนวทางที่ดีกว่าแค่การบอกว่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน
ดังที่ นายเคนเน็ธ มูกัมเบ ผู้อำนวยการงบประมาณ กระทรวงการคลังของยูกันด้าได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาในเวทีประชุมว่า “ผมไม่สนใจเรื่องกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) กับการประเมินร่วมกันระหว่างผู้ประเมินจากภายนอกและผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ (JEE) ผมไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นเรื่องของบุคลากรด้านสาธารณสุขที่จะใช้มันเป็นเหตุผลอธิบาย (สำหรับการของบประมาณ)”
แล้วจะเข้าหาบุคลากรด้านการคลังอย่างไรดีล่ะ?
นายมูเกชเสนอแนะว่า “เราต้องเปลี่ยนคำพูดจาก ‘นี่เป็นการลงทุนด้านสุขภาพ’ เป็น ‘นี่คือการลงทุนทางเศรษฐกิจ’”
กระทรวงสาธารณสุขของไทยสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างน่าทึ่งเมื่อประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนและยาต้านไข้หวัดใหญ่ โดยชี้ถึงกรณีวิกฤติการณ์ไข้หวัดนก H5N1 ที่สร้างความเสียหายยับเยินให้กับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของไทยในปี 2547 และเริ่มสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองเมื่อความตื่นตระหนกขยายตัว
นพ. ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขผู้มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จครั้งนั้น กล่าวว่า “สิ่งที่ผลักดันให้รัฐบาลลงทุนคือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง เราแค่ต้องหาหลักฐานดี ๆ มาสนับสนุนข้อเสนอของเรา”
จริงแล้วมีหลักฐานพิสูจน์อยู่มากมายที่สนับสนุนการใช้เหตุผลทางเศรษฐกิจเพื่อการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ ในการสัมภาษณ์สดทางเฟซบุ๊ค ที่งานประชุมดังกล่าว ดร. ทูมัส พาลู ผู้จัดการการปฏิบัติด้านสุขภาพของธนาคารโลก ชี้ว่าการแพร่ระบาดของซาร์สในปี 2546 นอกจากทำให้มีผู้เสียชีวิต 800 คนนั้นยังก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 54 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข และค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัยและรักษาพยาบาล
ในทำนองเดียวกัน วิกฤตอีโบลาในช่วงปี 2557-2558 ในแอฟริกาตะวันตกก็ส่งผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อประเทศต่างๆ ธนาคารโลกประมาณการความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อจีดีพีมีมูลค่าราว 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เกิดกับประเทศไลบีเรีย กินีและเซียราลีโอเน ยิ่งกว่านั้น ประชาคมระหว่างประเทศใช้เงิน 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อควบคุมโรคดังกล่าว ซึ่งเป็น “ต้นทุนโอกาส” ที่แพงมหาศาลเนื่องจากเงินดังกล่าวสามารถนำไปใช้เพื่อการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอื่นๆ ได้
“สิ่งสำคัญที่สุดคือความพร้อมรับมือสถานการณ์โรคระบาดใหญ่เป็นประเด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ดร. ทูมัสกล่าว
สเตฟานี วิลเลียมส์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย เน้นย้ำว่าโรคระบาดใหญ่ส่งผลกระทบกว้างไกลกว่าแค่ภาคสาธารณสุข “การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ๆ ล้วนมีต้นทุนมนุษย์ ต้นทุนเศรษฐกิจและบางครั้งก็ถึงกับเป็นต้นทุนการเมือง” เธอกล่าว
สเตฟานี วิลเลียมส์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลียกำลังถ่ายทอดเรื่องราวของ DFAT ที่กำลังทำงานกับหุ้นส่วนอย่างใกล้ชิดและความร่วมมือเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพ
แง่มุมเหล่านี้กำลังได้รับการรับฟังจากผู้นำประเทศต่างๆ นายฟามเลอตวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเวียดนาม กล่าวว่าประเทศของเขาเข้าใจมิติ “เศรษฐศาสตร์การเมือง” ของการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ ดังนั้น เวียดนามจึงเป็นประเทศแรกที่นำร่องใช้เครื่องมือประเมินการสนับสนุนทางการเงินเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพก่อนที่จะถูกนำไปใช้ในประเทศอื่นในภูมิภาค
“เรายังได้เพิ่มงบประมาณ (สำหรับเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โรคระบาดใหญ่) อีกด้วย” ท่านรัฐมนตรีช่วยกล่าว
นายเอดูอาร์โด แบนซอน หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของธนาคารพัฒนาเอเชีย เสนอแนะให้ใช้เหตุผลทางเศรษฐกิจเพื่อดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อความมั่นคงด้านสุขภาพ