เรื่องเด่น

เสียงที่ถูกมองข้าม: ผู้ชายและเยาวชนชายผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย

วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559


Image

เรื่องเด่น
  • สถานการณ์ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 6,000 ราย และทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกเกือบ 11,000 คน
  • สถาณการณ์ของผู้ชายและเยาวชนชายผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งมักถูกมองข้าม ผู้ชายร้อยละ 63 ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากความขัดแย้ง ในขณะที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบร้อยละ 30
  • รายงานที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกพบว่าการให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางจิตใจของกลุ่มผู้ชายและเยาวชนชาย และการสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้ง

หากดูเผินๆ แล้ว อิบราฮิมก็ดูเหมือนเด็กหนุ่มอายุ 23 ปี ทั่วไปที่เต็มไปด้วยความหวังในชีวิต แต่ชีวิตของอิบราฮิมนั้นแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เขากำลังตั้งอกตั้งใจปัดเศษฝุ่นผงที่ป้ายหลุมศพของพ่อแม่ และพี่ชาย  อิบราฮิมสูญเสียพวกเขาไปจากเหตการณ์ความขัดแย้งในภาคใต้ของไทยที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547

บุคลิกที่เงียบขรึมของอิบราฮิมทำให้คนไม่สังเกตเห็นความเศร้าโศกเสียใจของเขา “ตอนที่พ่อแม่ผมตาย ผมเสียใจมากอยู่เป็นปี ผมรู้สึกกลัวที่จะอยู่ในชุมชน ผมไม่กล้าที่จะออกจากบ้าน ผมรู้สึกว่ามีคนจ้องมองผมอยู่และไม่เชื่อใจผม หลังจากที่ผมเสียพ่อ แม่และพี่ชายไป ผมไม่สามารถเรียนหนังสือได้ต่อได้ ผมต้องทำมาหากิน และผมยังคิดถึงพ่อแม่ผมทุกครั้งที่เดินผ่านห้องของท่าน” อิบราฮิมกล่าว

อิบราฮิมเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชายและเยาวชนชายที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งอย่างมาก คนกลุ่มนี้ถูกละเลยและขาดโอกาสทางการศึกษาและสังคม รวมถึงขาดทักษะชีวิต แม้ว่ารัฐบาลไทยจะใช้งบประมาณมากกว่า 206,094.4 ล้านบาทเพื่อความมั่นคง การพัฒนา และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพื่อควบคุมสถานการณ์ก็ตาม (ข้อมูลจากรายงาน การประเมินสถานการณ์ของผู้ชายและเยาวชนชายในพื้นที่ขัดแย้งชายแดนภาคใต้ของไทย โดย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก)

สิ่งที่อิบราฮิมต้องการมากกว่าการได้รับเงินเยียวยาคือความยุติธรรมและข้อยุติสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นสิ่งที่ผมต้องการคือความยุติธรรมให้กับพ่อ แม่ และพี่ของผม ผมอยากรู้ความจริงว่าพวกเขาตายเพราะอะไร แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่าใครเป็นคนฆ่าพวกเขา ผมต้องการข้อยุติให้กับความทุกข์ของผมที่เกิดจากการเสียชีวิตของพวกเขา” อิบราฮิมกล่าว


Image

" สิ่งที่ผมต้องการคือความยุติธรรมให้กับพ่อ แม่ และพี่ของผม ผมอยากรู้ความจริงว่าพวกเขาตายเพราะอะไร แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่าใครเป็นคนฆ่าพวกเขา ผมต้องการข้อยุติให้กับความทุกข์ของผมที่เกิดจากการเสียชีวิตของพวกเขา "

อิบราฮิม


Image

ผลกระทบทางจิตใจต่อกลุ่มผู้ชายและเยาวชนชาย

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา จากกรมสุขภาพจิตได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพจิตในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งโดยไม่แบ่งแยกศาสนาหรือการแบ่งกลุ่มเพื่อพยายามบรรเทาความขัดข้องใจที่ฝังรากลึกในชุมชน

แพทย์หญิงเพชรดาวอธิบายผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชายและเยาวชนชายว่า “จากข้อมูลที่เราได้รวบรวมในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา พบว่าผู้ชายอย่างน้อยร้อยละ 63 ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ในขณะที่ผู้หญิงร้อยละ 30 ได้รับผลกระทบ ผู้ชายได้รับผลกระทบมากกว่าผู้หญิงเนื่องจากพวกเขาถูกสงสัยตลอดเวลาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ นอกจากนี้ ผู้ชายรู้สึกว่าตนเองจะต้องเข้มแข็งและอดทนได้ในทุกสถานการณ์”

ความพยายามของแพทย์หญิงเพชรดาวได้สร้างความเชื่อใจให้กับกลุ่มประชากรที่เปราะบางในพื้นที่เพิ่มขี้นทีละน้อย กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือ และรวมถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ อาทิ โรงพยาบาล

“งานของเรานั้นไม่สามารถเข้าถึงผู้ชายที่ได้รับผลกระทบได้ทุกคนแต่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ เราต้องประสานงานกับองค์กรภาคประชาสังคมและหรือองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ในพื้นที่เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของเราได้ โดยองค์กรพัฒนาเอกชนสามารถช่วยหากลุ่มคนที่มีโอกาสที่จะมีความเปราะบางต่อสถาณการณ์สูงและสามารถส่งคนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมาหาเราได้แพทย์หญิงเพชรดาวกล่าว

การสร้างความเชื่อใจและความเข้าใจร่วมกัน

อีกด้านหนึ่งของความขัดแย้งที่มักถูกมองข้ามคือ ตราบาปที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เคยถูกกุมขัง มีคนกลุ่มหนึ่งถูกจับกุมเนื่องจากหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ ในขณะที่คนอีกกลุ่มโดนกล่าวหาจากบุคคลอื่นแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนก็ตาม หลังจากคนกลุ่มนี้ได้คืนกลับสู่ชุมชนแล้ว พวกเขายังคงไม่ได้รับการต้อนรับจากชุมชนแม้ว่าภาครัฐจะยกฟ้องพวกเขาแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับความลำบากเป็นอย่างมากในการหางานทำ

ความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ไม่สามารถกลับสู่สังคมได้นั้นเห็นได้อย่างชัดเจนจากกรณีของ อับดุลโรซา กาเดีย ซึ่งถูกดำเนินคดีอาชญากรรมและคดีความมั่นคงรวม 21 คดี แต่ท้ายที่สุดแล้วศาลได้ยกฟ้องทุกคดีหลังจากที่เขาได้ถูกจองจำไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง

“หลังจากที่ผมต่อสู้คดีและได้รับการปล่อยตัวออกจากคุก ผมรู้สึกว่าผมถูกจับจ้องตลอดเวลา ผมไม่สามารถสมัครงานกับบริษัทได้เพราะเขาสอบประวัติผมอับดุลโรซากล่าว “เงินนั้นเป็นสิ่งชดเชยที่จำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือสุขภาวะทางจิตของพวกเราเพื่อที่จะให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไป และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความเข้มแข็งพอที่จะยืนหยัดหาเลี้ยงชีพได้”

ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมนี้ นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรมพยายามที่จะบรรเทาความเกลียดชังที่ชุมชนในพื้นที่มีต่อภาครัฐ

“เราต้องปรับปรุงและสร้างความเข้าใจกับกลุ่มต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ” นายกิตติกล่าว “โดยรวมแล้วถือว่าสถานการณ์ดีขึ้น เพราะภาครัฐรับฟังชุมชนและให้การสนับสนุนด้านการศึกษามากขึ้น”

รายงานฉบับนี้กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ชายและเยาวชนชายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นงานที่ท้าทายอย่างมากเนื่องจากต้องอาศัยการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน  องค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงสถาบันทางศาสนา   การทำงานโดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ชายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบนับเป็นก้าวสำคัญในการช่วยลดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้

ในฐานะคนในพื้นที่ นายฮัก อซาซิ บริเคมานูซโลน ผู้ทำงานกับองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า “ในอนาคต ผมหวังว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งก็คงไม่มีใครไม่เห็นด้วย แต่ในการทำให้เกิดความสงบสุขนั้น ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อใจกันและกัน”



Api
Api

Welcome