ประเด็นสำคัญ
- หลังจากการต่อสู้กับความผ้นผวนของปีที่แล้วมาตลอดทั้งปี กิจกรรมเศรษฐกิจของไทยกำลังกลับคืนสู่ภาวะปกติในปี 2554อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายไตรมาสเริ่มกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2551 สำหรับปี 2554 ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.7 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.2
- รายได้ภาคเกษตรที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น เป็นกลไกผลักดันสำคัญของการบริโภคในประเทศ โดยมีส่วนช่วยเสริมให้ค่าจ้างโดยรวมเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวในทางบวกก็มีส่วนช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อรถยนต์และบ้านใหม่
- การฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งของธุรกิจท่องเที่ยว และอุปสงค์ที่สูงขึ้นมากของสินค้าประเภทรถยนต์ และผลผลิตการเกษตรช่วยผลักดันการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2553 ในขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและเชื้อเพลิงต่อเศรษฐกิจไทยก็ถูกทำให้เบาบางลงจากการควบคุมราคาสินค้าภายในประเทศและการขยายตัวที่สูงของภาคการส่งออก
- ความเสี่ยงที่สำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจ คือ ปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน และผลกระทบในทางอ้อมจากภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศในยุโรปรวมถึงการฟื้นตัวที่ยังอ่อนแอของประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการหยุดชะงักของสายป่านการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับผลกระทบมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น
- ในปี 2554 ราคาพืชผลทางการเกษตรจะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่สูง อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเหตุการณ์ความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตรที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากสภาวะอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ การวนเวียนเพิ่มขึ้นของราคาอาหารจะส่งผลร้ายต่อกลุ่มประชากรที่จนที่สุดของประเทศ ค่าครองชีพและราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหากราคาน้ำมันยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีก จะทำให้รายได้ภาคเกษตรไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
- การอุดหนุนราคาน้ำมันควรจะถูกแทนที่ด้วยการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ในระยะสั้น รัฐบาลควรปรับการช่วยเหลือให้ตรงไปสู่กลุ่มครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรปรับเพื่มอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจซึ่งยังไม่อยู่ในสถาวะที่มีเสถียรภาพมากนัก
- ในระยะยาว การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากการนำเข้าจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถจัดการกับความเสี่ยงที่จะเกิดจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในอนาคตได้
- การที่จำนวนประชากรในโลกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องและผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งก่อให้เกิดปัญหาคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น การลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านการผลิตอาหารจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถตอบสนองต่อวิกฤตการณ์อาหารครั้งหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น