Skip to Main Navigation
publication วันที่ 30 มิถุนายน 2563

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย มิถุนายน 2563: ประเทศไทยท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

Image

ประเด็นสำคัญ

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่เปิดกว้างทางการค้าและเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว

  • เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 5 ในปี 2563 นับเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจหดตัวมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
  • อุปสงค์โลกที่อ่อนตัวลงนำไปสู่การหดตัวของการค้าโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยและกระทบกับห่วงโซ่มูลค่าโลก อาทิ รถยนต์ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่โดดเด่นของโลก
  • ภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากการเกือบจะห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
  • มาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของโรค พร้อมกับการทำให้เส้นกราฟของการติดเชื้อลดลงกลายเป็นเส้นแนวราบนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มีผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคการค้าปลีกและภาคบริการเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นจากยอดการขายสินค้าคงทนที่ลดดิ่งลงเกือบร้อยละ 12 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563
  • อุปสงค์อ่อนแอและราคาพลังงานลดลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว
  • การระบาดของโรคจะทำให้เกิดการว่างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากมาตรการควบคุมการติดเชื้อ และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
  • ผลกระทบต่อสวัสดิการของครัวเรือนก็รุนแรงเช่นกัน จำนวนครัวเรือนที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาทิ คนที่มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ประมาณ 169 บาท) ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 4.7 ล้านคนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 เป็นประมาณ 9.7 ล้านคนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ก่อนจะลดจำนวนลงจากการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เป็น 7.8 ล้านคนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563
  • แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังต้องใช้ระยะเวลาอีกนานและมีความไม่แน่นอน  การขับเคลื่อนอุปสงค์ภายในประเทศ อาทิ การบริโภค อาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศไทยเริ่มผ่อนปรนข้อบังคับด้านการเดินทางเคลื่อนย้ายคน แต่ยังคงจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ  การค้าและการหยุดชะงักด้านห่วงโซ่อุปทานยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง
  • เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในปี 2564 (ร้อยละ 4.1) และปี 2565 (ร้อยละ 3.6) ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวในระดับเดียวกับก่อนโควิดได้นั้นต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี  เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแข้มแข็งได้ต้องอาศัยการตอบสนองทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ

การสนับสนุนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบาง

  • ประเทศไทยมีมาตรการหลายประการเพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 รวมแล้วคิดเป็นร้อยละ 12.9 ของ GDP  โดยเน้นมาตรการผ่อนคลายผลกระทบที่มีต่อครัวเรือนที่เปราะบางและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
  • โครงการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ทั้งในเรื่อง ขนาด ความครอบคลุม และความหลากหลายของเครื่องมือ
  • องค์ประกอบที่สำคัญของโครงการเหล่านี้ ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนและโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจชุมชน (ร้อยละ 5.9 ของ GDP) ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เงินทุนจากการกู้ยืม  นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งมาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้เพื่อรักษาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (ร้อยละ 2.4 ของ GDP) และ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ร้อยละ 2.9 ของ GDP)  อีกทั้ง ยังมีมาตรการลดภาษีและการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการและครัวเรือนอีกด้วย
  • ในขณะที่ประเทศไทยได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือที่มีขนาดใหญ่ ความท้าทายของเรื่องนี้คือ การเชื่อมโยงระหว่างการลงทะเบียนของผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์  และการสร้างระบบลงทะเบียนทางสังคมอย่างบูรณาการที่จะช่วยให้มีข้อมูลที่ทันสมัยและสามารถมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนเปราะบางได้ อีกทั้ง ยังช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างทันท่วงที
  • การเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการในอนาคตข้างหน้าต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19  ในขณะที่ต้องแน่ใจว่าครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่มีความเปราะบาง
  • นอกจากนี้ประเทศไทยควรลงทุนเรื่องนโยบายและโครงการตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป  โครงการอบรมและบริการจ้างงานต้องมีการปฏิรูปเพื่อสะท้อนความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการเพิ่มทักษะการพัฒนาอารมณ์ทางสังคม รวมถึงทักษะทางปัญญาขั้นสูงและทักษะด้านเทคนิค
  • ในระยะยาว นโยบายจะต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความยืดหยุ่น ในขณะที่พื้นที่การคลังลดลง การฟื้นฟูกันชนทางการคลังขึ้นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ประโยชน์จากรายรับของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตรวมถึงสามารถดำเนินแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานตามที่วางแผนไว้