ข้อค้นพบที่สำคัญ
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด แม้จะช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค สะท้อนความสามารถในการรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยระดับผลผลิตกลับมาอยู่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19
- เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวและการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
- จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศในเดือนกันยายนกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 45 ของระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 แซงหน้าประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
- ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 แม้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะสูงขึ้น แต่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 5.7 สาเหตุจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิและดุลการค้าสินค้าที่ถดถอยตามวัฏจักรของเศรษฐกิจ
- แรงกดดันด้านราคายังคงอยู่ในระดับสูงด้วยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ร้อยละ 6.0 สูงเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศอาเซียนและส่งผลไปสู่เงินเฟ้อพื้นฐาน
- รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุกเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและบรรเทาแรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
- ในปี 2565 การใช้จ่ายภาครัฐโดยรวมลดลงอยู่ที่ร้อยละ 23.4 ของ GDP เป็นผลมาจากมาตรการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งรวมถึงการให้เงินช่วยเหลือ การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ของ GDP
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ถือเป็นบททดสอบความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย
- เศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.4 ในปี 2565 และร้อยละ 3.6 ในปี 2566
- ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกในปี 2566 หลังขาดดุลในระดับสูงตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา
- แรงกดดันด้านราคาคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงก่อนจะชะลอตัวลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
- หนี้สาธารณะคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงสุดที่ร้อยละ 60.7 ของ GDP ในปีงบประมาณ 2565
- ผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น หรือทำให้พื้นที่ทางการคลังลดลง เว้นแต่จะมีการนำมาตรการช่วยเหลือทางสังคมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมาใช้
รายงานฉบับนี้พบว่านโยบายการคลังเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
- เห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีมาตรการให้ความช่วยเหลือทางสังคมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด - 19 นั้น ได้ช่วยชดเชยการสูญเสียรายได้และบรรเทาปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้น
- หากไม่มีมาตรการดังกล่าว ความยากจนอาจสูงถึงร้อยละ 8.1 ในปี 2564 (สูงกว่าระดับคาดการณ์ ร้อยละ 27) ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำอาจสูงกว่าในระดับปัจจุบันมากกว่าร้อยละ 40
- อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายด้านสังคมของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับการจัดเก็บรายได้ภาษี
การออกแบบนโยบายที่ทั้งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เร่งบรรเทาปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ และป้องกันครัวเรือนจากผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายมากภายใต้พื้นที่ทางการคลังที่จำกัด รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการคลัง ดังต่อไปนี้:
- เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายด้านสังคม โดยการปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายของการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในรูปแบบของเงินช่วยเหลือ
- ให้ความสำคัญกับการเพิ่มการใช้จ่ายด้านการให้บริการสาธารณะสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
- เพิ่มรายได้เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบก้าวหน้า ทั้งนี้ การปฏิรูปเพื่อเพิ่มรายได้ภาษี ควรคำนึงถึงการลดผลกระทบทางลบที่มีต่อครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง และควรมาพร้อมกับมาตรการเฉพาะที่ช่วยปกป้องรายได้ของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวด้วย