ประเด็นสำคัญ
รายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนของประเทศไทยนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกและบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) เพื่อประเมินความท้าทายและโอกาสการเติบโตของภาคเอกชนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ผลการศึกษาพบว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้จะช่วยให้เศรษฐกิขไทยกลับมาเติบโตตามที่คาดหวังไว้ได้ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเข้าถึงโอกาสการเติบโตเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขข้อจำกัดด้านการลงทุนที่สำคัญดังนี้
- ยกระดับการแข่งขันให้เป็นธรรม: การแข่งขันที่จำกัดและความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันเป็นอุปสรรคสำคัญสองข้อขัดขวางการสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชน
- ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI): ข้อจำกัดด้านการลงทุนจากต่างชาติส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและยังขัดขวางกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจของบริษัทต่างชาติด้วย
- เพิ่มการเข้าถึงแรงงานที่มีทักษะสำหรับโลกอนาคต: แรงงานที่มีทักษะที่ธุรกิจต้องการมีไม่เพียงพอเนื่องจากสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานลดลง ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติยังค่อนข้างน้อย มีการจ้างงานไม่เต็มเวลา และหลักสูตรการศึกษายังไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนเท่าที่ควร โดยเฉพาะทักษะด้านนวัตกรรมที่มีความต้องการในตลาดแรงงานค่อนข้างมาก
- ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนานวัตกรรม: แม้การเข้าถึงสินเชื่อโดยรวมของภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่ง แต่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (MSME) กลับเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมได้ไม่มากนัก ทำให้การนำโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในธุรกิจเป็นไปได้ยาก
- แก้ไขข้อจำกัดเฉพาะทางที่สำคัญ: ได้แก่ (ก) ความซับซ้อนของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (ข) กรอบการกำกับดูแลการดำเนินงานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยังไม่ครอบคลุม ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงาน และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการสนับสนุนปัจจันทางกายภาพที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ย้อนกลับ
เพื่อรับมือกับความท้าทายระยะสั้นและระยะกลางนี้ ประเทศไทยต้องส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อช่วยยกสถานะให้เป็นประเทศรายได้สูงและสร้างงานที่ดีขึ้นในอนาคต โดยรายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนของประเทศไทยฉบับนี้ได้รวบรวมข้อเสนอแนะที่ช่วยแก้ไขข้อจำกัดสำคัญไว้ดังนี้
- ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม และผ่อนคลายระเบียบเรื่องการจ้างพนักงานต่างชาติ/ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
- พิจารณาปรับปรุงข้อกำหนดการได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยเฉพาะข้อกำหนดเรื่องทุนขั้นต่ำที่คนต่างด้าวใช้ในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจในประเทศไทย (FDI) และพิจารณายกเลิกเงื่อนไขด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ
- พัฒนาระบบตรวจสอบทักษะแรงงาน เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมวางหลักสูตร และเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ประสานงานกลางการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (TVET)
- เพิ่มจำนวนศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานสตรีมีส่วนร่วมมากขึ้น
- เสริมความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและเพิ่มโอกาสให้ SME เข้าถึงบริการทางการเงิน โดยต่อยอดการทำธุรกรรมแฟ็กเตอริงในรูปแบบดิจิทัล (digital factoring) ให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย (SME) มีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่า