ผลการศึกษา
แม้ว่าระบบประกันสุขภาพของรัฐจะครอบคลุมประชาชนไทยทุกคนและให้สิทธิประโยชน์ค่อนข้างครบถ้วน ทว่าช่องว่างในการเข้าถึงและการใช้บริการทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวกับการรักษาและการสนับสนุนทางสังคมยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้สูงอายุยากจนและผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทโดยเฉพาะ
- ประเทศไทยขยายความครอบคลุมของระบบประกันสุขภาพทั่วประเทศสำเร็จในปี 2545 ซึ่งประชาชนไทยได้รับสิทธิบริการทางสุขภาพจากระบบประกันสุขภาพของรัฐอย่างน้อย
- สิทธิประโยชน์เหล่านี้ได้เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและลดภาระทางการเงิน พร้อมบรรเทาความเสี่ยงต่อความยากจนจากค่าใช้จ่ายในการรักษาต่างๆ
- อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุยากจนและผู้สูงอายุวัยปลายที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทกำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแลและการสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวกับการรักษา อาทิ ค่าใช่จ่ายในการเดินทางไปยังสถานพยาบาล ซึ่งเป็นสาเหตุให้การเข้าถึงบริการทางสุขภาพยากลำบาก
- การขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่มีราคาย่อมเยาว์เป็นอุปสรรคสำคัญในการในการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพในหมู่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้กับทางหลวงหรือถนนสายหลักที่มีรถประจำทางวิ่งผ่าน ที่จำเป็นที่จะต้องจ้างรถ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง
- ผู้สูงอายุที่ยากจนและดำรงชีวิตด้วยเบี้ยเลี้ยงยังชีพจากบำนาญถ้วนหน้าเพียงอย่างเดียวมีความเสี่ยงที่สุด คนเหล่านี้ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการเดินทางมายังสถานพยาบาลในเวลาที่เจ็บป่วย ซึ่งไม่รวมถึงค่าอาหารและค่าที่พักหากพวกเขาจะต้องค้างคืน
- เหตุผลหลักอีกประการหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้อัตราการใช้สิทธิประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพลดลงในหมู่ผู้สูงวัย คือ การพึ่งพาผู้ดูแลและญาติพี่น้องในเวลาที่ต้องเดินทางมายังสถานพยาบาล ซึ่งเห็นได้จากจำนวนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับบุตรหลานที่ไปใช้สิทธิลดลงจากร้อยละ 80 ในปี 2533 เหลือร้อยละ 60 ในปี 2554
ทางเลือกนโยบายต่างๆ ที่สามารถนำมาพิจารณาและปรับใช้เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและลดอัตราการประสบภาวะสิ้นเนื้อประดาตัวจากการเจ็บป่วยในหมู่ผู้สูงวัย
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งรวมถึงการให้บริการรถตู้ฉุกเฉินสำหรับชุมชนและการจัดหายานพาหนะรับส่งผู้สูงอายุที่ยากจนมายังสถานพยาบาลตามความจำเป็น
- อาสาสมัครประจำหมู่บ้านสามารถมีบทบาทในการช่วยเหลือทางด้านสุขภาพเบื้องต้นแก่ผู้สูงอายุในชุมชน ผ่านการเยี่ยมเยียนตามบ้าน และการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค
- แผนงานการคัดกรองและการมุ่งเป้าดูแลกลุ่มคนยากจนควรได้รับการทบทวนเพื่อพัฒนาการให้บริการทางสุขภาพและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ที่ต้องการมากที่สุด
- บริการเยี่ยมบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รวมถึงมาตรการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางมายังสถานพยาบาลแกผู้สูงอายุยากจนเมื่อจำเป็นควรได้รับการสนับสนุน