ความท้าทาย
ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปีพ.ศ. 2573 ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานสุทธิโดยมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพลังงานฟอสซิล ซึ่งทำให้มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2563 ภาคพลังงานและการขนส่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด
ประเทศไทยเห็นความสำคัญของกลไกกำหนดราคาคาร์บอนและการประสานสอดคล้องกับนโยบายอื่นๆ เพื่อช่วยลดคาร์บอนในเศรษฐกิจ ในฐานะผู้ริเริ่มรายแรกๆ ในภูมิภาคในการดำเนินการกำหนดราคาคาร์บอน รัฐบาลไทยได้เริ่มดำเนินกลไกกำหนดราคาคาร์บอนภาคสมัครใจหลายอย่าง เช่น โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program - T-VER) และโครงการชดเชยคาร์บอน (Thailand Carbon Offsetting Program) ในปีพ.ศ. 2556 อย่างไรก็ตาม ในการที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างมาก ประเทศไทยยังคงจำเป็นต้องมีกรอบกฎหมายและโครงสร้างเชิงสถาบัน และเสริมสร้างศักยภาพของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เข้าใจและสามารถดำเนินมาตรการกำหนดราคาคาร์บอนได้
“แผนงานส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน (Energy Performance Certificate initiative) ภายใต้ความร่วมมือของโครงการ PMR นี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และจะเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในเอเชียภายในปีพ.ศ. 2579”
คุณสาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการกองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน
แนวทาง
การสนับสนุนของธนาคารโลกมุ่งเสริมสร้างความรู้และศักยภาพของหน่วยงานรัฐหลักๆ ด้วยการทำงานด้านเทคนิคและการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน และช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศ/ภูมิภาคอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย นอกจากนี้โครงการนี้ยังสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเทศบาลท้องถิ่นภายใต้โครงการเมืองคาร์บอนต่ำ รวมถึงการระดมเงินทุนผ่านการค้าคาร์บอนในโครงการลดการปล่อยภาคสมัครใจของประเทศไทย และโครงการนำร่องเพื่อการส่งเสริมการกำหนดราคาคาร์บอนภายในตามบริษัทเป้าหมายหลักในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของประเทศไทย
นอกจากจะให้การสนับสนุนทางเทคนิคอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว การสร้างความเข้าใจและความยอมรับจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินโครงการ คณะทำงานของธนาคารโลกมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย ช่องทางการแลกเปลี่ยนนอกรอบ การเยี่ยมชมสถานที่ และกลไกการหารือรับฟังต่างๆ เพื่อกระชับความร่วมมือและการสื่อสารในหมู่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ผล
การให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและข้อเสนอแนะทางนโยบายหลักๆ ทั้งหมด เช่น กรอบกฎหมายสำหรับระบบการค้าขายสิทธิในการปล่อยก๊าซ แผนงานส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน และแผนการลดการปล่อยสำหรับเมืองคาร์บอนต่ำ ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานและภาคเอกชนเป้าหมาย และมีการนำไปดำเนินการต่อไป โครงการได้เสริมสร้างศักยภาพเชิงกฎหมาย สถาบัน และเทคนิคให้กับภาครัฐ และเสริมสร้างความเข้าใจและความมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดราคาคาร์บอน และช่วยเตรียมความพร้อมของประเทศในการดำเนินกลไกกำหนดราคาคาร์บอน กลไกเหล่านี้จะได้รับการบูรณาการเข้าไปในนโยบายด้านพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาคอื่นๆ ของประเทศไทย และจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนในระยะยาวภายใต้ความตกลงปารีสได้ กล่าวคือ
รัฐบาลกำลังร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาคาร์บอน เช่น กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กฎหมายว่าด้วยการรายงานเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก และกฎหมายว่าด้วยระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเสนอร่างกฎหมายรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาในการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กฎหมายว่าด้วยระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยกำลังอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และคาดว่าจะมีการเสนอกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเร็วๆ นี้ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดทางภาคตะวันออกของไทย เห็นชอบกับกรอบการลงทุนและการพัฒนาพลังงานสะอาดสำหรับการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้รับมอบหมายให้ออกแบบระบบการบริหารจัดการและวางแผน และพัฒนากลไกคาร์บอนเครดิตและระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยในหมู่ผู้ประกอบการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานมีแผนที่จะดำเนินโครงการพัฒนาการลดก๊าซเรือนกระจกในอาคารควบคุมและโรงงานควบคุมโดยใช้กลไกตลาด (Energy Performance Certificate Scheme - EPC) ที่มีโรงงานเป้าหมาย 20–30 แห่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในปีพ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่มีจุดมุ่งหมายเป็นการเรียนรู้เพื่อจะได้พร้อมดำเนินการรวบรวมจัดการข้อมูลอย่างถี่ถ้วนมากขึ้นในระยะต่อไป แผนดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากการดำเนินโครงการนำร่องในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้จะทำให้ได้รับข้อมูลการใช้พลังงานที่บิดเบือนไปจากสถานการณ์ปกติ นอกจากนี้ โครงการนี้กำลังได้รับการพิจารณาให้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแห่งชาติที่มีการดำเนินการในระยะยาว
เทศบาลเกือบทั้ง 25 แห่งในโครงการเมืองคาร์บอนต่ำกำลังวางแผนที่จะลงทุนเพื่อสภาพแวดล้อมตามแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในท้องถิ่น รัฐบาลกำลังพิจารณาขยายโครงการจากระดับเมืองให้เป็นภูมิภาค เทศบาลเหล่านี้ได้เสนอโครงการพลังงานจากขยะเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาเทศบาลสามปี โครงการของธนาคารโลกยังได้ระดมการร่วมทุนเพิ่มเติมจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการลงทุนสีเขียวของเทศบาล เช่น เทศบาลอุดรธานีได้เงินทุน 369.6 ล้านบาทในการดำเนินโครงการผลิตพลังงานจากขยะ เทศบาลส่วนใหญ่รวมแผนเช่นนี้ไว้ในแผนงานสร้างจิตสำนึกและเผยแพร่ข้อมูล โครงการเมืองคาร์บอนต่ำนี้ยังเป็นช่องทางให้ได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงมหาดไทยในการออกแบบและผนวกตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในตัวชี้วัดประสิทธิภาพโดยรวมของเทศบาล
ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประเทศที่เข้าร่วมโครงการ PMR ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในภูมิภาคถัดจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน และสิงคโปร์ในแง่ของการเตรียมความพร้อมและการดำเนินการด้านการกำหนดราคาคาร์บอน โครงการนี้ช่วยให้เทศบาลท้องถิ่นสร้างศักยภาพในการระดมเงินทุนได้มากกว่า 376 ล้านบาทจากกลไกคาร์บอนเครดิตและสร้างศักยภาพทางเทคนิคในการวางแผนและดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับเทศบาลขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วประเทศ
บทบาทการสนับสนุนของธนาคารโลก
กองทุนสนับสนุนโครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาดของธนาคารโลก (ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากออสเตรเลีย เดนมาร์ก คณะกรรมาธิการยุโรป ฟินแลนด์ เยอรมัน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ) ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคมูลค่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้โครงการยังมีการให้การสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 450,000 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับการวิเคราะห์ทางเลือกต่างๆ ในการกำหนดราคาคาร์บอน
ผู้ร่วมโครงการ
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) - หน่วยงานดำเนินการหลัก ร่วมสนับสนุนงบประมาณ 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน - ที่ปรึกษาและผู้รับประโยชน์หลักในส่วนของแผนงานส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น - ที่ปรึกษาและหน่วยงานดำเนินการหลักในส่วนของการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ
- ธนาคารโลก – จัดหาเงินทุนสนับสนุนกว่า 376 ล้านบาทจากกลไกคาร์บอนเครดิต พัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อแสวงหาการร่วมทุนสนับสนุนการลงทุนสีเขียวของเทศบาลต่างๆ และทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการของโครงการ
ก้าวไปข้างหน้า
รัฐบาลจะดำเนินการออกกฎหมายและกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการกำหนดราคาคาร์บอน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานวางแผนที่ดำเนินแผนงานส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงานควบคุมเป็นการนำร่อง (Energy Performance Certificate program) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตั้งเป้าที่จะขยายและเพิ่มระดับโครงการชดเชยคาร์บอนและให้คาร์บอนเครดิตที่มีอยู่ด้วยการมีกลไกกำหนดราคาคาร์บอนเพิ่มเติม เช่น ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยภาคบังคับ หลังจากร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกฎหมายอื่นๆ ผ่านความเห็นชอบ
จากโครงการนำร่องที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกในปีพ.ศ. 2563 ที่มีเป้าหมายเป็นโรงงานและกิจการหลักหกแห่งด้านพลังงาน ปิโตรเคมี โรงกลั่น และอสังหาริมทรัพย์ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อส่งเสริมการกำหนดราคาคาร์บอนภายในในระดับกิจการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกำลังขยายโครงการเพื่อให้ครอบคลุมจำนวนกิจการเพิ่มขึ้น ในช่วงปีพ.ศ. 2564-2565 อบก.จะขยายโครงการนำร่องโดยมีเป้าหมายเป็นบริษัทเอกชน 21 แห่ง เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการกำหนดราคาคาร์บอนในอนาคตและพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนและการดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสทั่วโลกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices - DJSI) ที่มีเกณฑ์สำหรับนักลงทุนใช้พิจารณาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างมูลค่าผู้ถือหุ้นในระยะยาว ซึ่งการกำหนดราคาคาร์บอนภายในเป็นหนึ่งในเกณฑ์พิจารณาการให้คะแนนความยั่งยืนของบริษัท โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการสามแห่งจากทั้งหมดหกแห่งได้รับคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีดังกล่าวแล้ว คือ พีทีที โกลบอล เคมิคอล ปูนซิเมนต์ไทย และ IRPC