ความท้าทาย
เทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ส่งเสริมภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษา การถนอมอาหารและการลดของเสียให้น้อยที่สุด ช่วยพัฒนาภาคสาธารณสุข และสนับสนุนเป้าหทายการพัฒนาด้านดิจิตอลของประเทศ แต่การพัฒนาเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเนื่องจากสารประกอบต่างๆ ที่ใช้เป็นสารทำความเย็นไม่เพียงแต่เป็นสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน แต่ยังมีศักยภาพเป็นก๊าซเรือนกระจกด้วย
ประเทศไทยผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกซึ่งผลิตเครื่องปรับอากาศกว่า 16 ล้านเครื่องต่อปี และกว่าร้อยละ 90 นั้นเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 10 ผู้นำเข้าและผู้ใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) ซึ่งนำเข้ามากกว่า 18,000 ตันในปี 2555 โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาล คือ การแนะนำแนวทางการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมของประเทศไทยและการนำแนวคิดอุตสาหกรรมสีเขียวมาใช้
เนื่องจากประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยการคุ้มครองชั้นโอโซนและพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารที่ทำลายชั้นโอโซน จึงจำเป็นต้องยกเลิกการใช้คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) และสารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs)
กำหนดการเลิกการใช้สาร HCFC ได้สร้างความท้าทายที่สำคัญให้กับผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศสำหรับที่อยู่อาศัยของไทย รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคอุตสาหกรรมโฟมที่ผลิตผลิตภัณฑ์โฟมฉนวนกันความร้อนชนิดต่างๆ การดำเนินโครงการลดและเลิกการใช้สาร HCFC อย่างทันเวลาได้ช่วยป้องกันการหยุดชะงักของภาคธุรกิจเหล่านี้ โดยผนวกกันระหว่างการลงทุนและการดำเนินนโยบายภาครัฐที่สอดคล้องกัน
ด้วยการสนับสนุนของธนาคารโลกผ่านโครงการนี้ ประเทศไทยได้ยกเลิกการใช้สาร CFCs อย่างสมบูรณ์ในปี 2553 และมีเป้าหมายที่จะยกเลิก HCFCs อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2573
แนวทางการดำเนินการ
เป็นเวลาเกือบ 25 ปีแล้วที่ธนาคารโลกได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการตามกองทุนพหุภาคีเพื่อการดำเนินพิธีสารมอนทรีออล ตั้งแต่ปี 2537 ธนาคารโลกได้จัดหาเงินทุนมากกว่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการเลิกใช้สาร CFC และ HCFC ที่เป็นอันตรายในประเทศไทย ธนาคารโลกได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมไทยมานานกว่าสองทศวรรษในการถ่ายโอนเทคโนโลยีและความรู้เกี่ยวกับโอโซนและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศให้กับภาคเอกชนรวมทั้งให้คำแนะนำด้านนโยบายและเทคนิคแก่หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนที่สำคัญ คือ คำแนะนำเกี่ยวกับทางเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงการออกแบบโครงการที่มีประสิทธิภาพโดยกำหนดกรอบนโยบายที่เหมาะสมและการแทรกแซงการลงทุนในเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการโครงการในการเลิกการใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศจะประสบความสำเร็จ
ตัวอย่างคือความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงของตลาดเครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัยของไทย ธนาคารโลกได้มีบทบาทในการสร้างอำนาจในการต่อรองซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดให้มีการหารืออย่างเปิดเผยระหว่างกลุ่มผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศไทยและบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีใหม่เพียงรายเดียวที่ใช้สารทำความเย็น HFCs ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและโอโซนซึ่งมีศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนลดลงเพียง 1 ใน 3 ของสาร HCFCs เดิม ธนาคารโลกได้ช่วยผู้ผลิตไทยในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่และเข้าถึงความรู้จากผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และช่วยปลดข้อจำกัดในการจัดหาส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศใหม่ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ก่อนประเทศอื่นนี้ทำให้ผู้ผลิตไทยสามารถขยายตลาดส่งออกในประเทศที่พัฒนาแล้วได้
สำหรับภาคอุตสาหกรรมโฟม โครงการได้มอบเงินช่วยเหลือภายใต้กองทุนพหุภาคีมอบให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความสามารถทางด้านเทคนิคและการเงินที่เพียงพอเพื่อดำเนินการเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศด้วยตนเอง สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโฟมขนาดเล็กที่มีความสามารถทางเทคนิคและการเงินจำกัด จะได้รับการสนับสนุนโดยผ่านทางบริษัทที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละราย
ท้ายที่สุด การเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตในทั้งสองภาคอุตสาหกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากการห้ามใช้ HCFC เดิมทั้งในภาคเครื่องปรับอากาศและโฟม (ยกเว้นสเปรย์โฟม) การผนวกกันระหว่างแรงจูงใจการลงทุนและการดเปลี่ยนแปลงนโยบายภาครัฐ และการขับเคลื่อนตลาดที่สอดคล้องกันนี้จีงนำไปสู่ความสำเร็จและความยั่งยืนของโครงการ
ผลลัพธ์
ประโยชน์ในด้านสภาพภูมิอากาศที่ได้รับทั้งหมดตั้งแต่เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2537 ถึง 2557 ได้แก่:
- การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 38.21 ล้านต่อปี เทียบเท่ากับการนำรถยนต์โดยสารออกจากถนนไปกว่า 8.1 ล้านคัน หรือการปิดโรงไฟฟ้าจากถ่านหินไปเกือบ 10 แห่ง
- เงินสนับสนุนโครงการนี้จากกองทุนทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นต้นทุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพียง US$ 2.09 หรือประมาณ 60 บาท ต่อหน่วย CO2 ซึ่งคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับมาตรการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่นๆ
- ผู้ผลิตโฟมขนาดเล็กและขนาดกลางมากกว่า 80 ราย ได้เปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตเป็นสารทางเลือกที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศต่ำลงส่งผลให้เกิดการหยุดผลิต HCFC ถาวรทั้งหมดกว่า 1,200 เมตริกตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 870,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่อปี
- ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศสำหรับที่อยู่อาศัยกว่า 11 รายได้เปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีทางเลือกที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศต่ำลง ณ เมื่อโครงการเสร็จสิ้น ได้มีการใช้สาร HCFC ทั้งหมดลดลงมากกว่า 5,000 เมตริกตัน
- ประเทศไทยสามารถรักษาสถานภาพที่มั่นคงในตลาดโลกและรักษาความสามารถในการแข่งขันในฐานะผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศในครัวเรือนรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก – ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 16 ล้านหน่วยต่อปี
ในแง่ของความสำเร็จของประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่:
- เสนอให้กองทุนพหุภาคีใช้แนวทางการดำเนินโครงการแบบ performance-based approach เพื่อลดการใช้สารที่ทำลายโอโซนอย่างถาวร เช่น CFCs และ HCFCs กองทุนนี้จึงทำให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายระยะยาวเพื่อจำกัดการนำเข้าและการใช้สารเหล่านี้
- ห้ามการผลิตและนำเข้าตู้เย็นที่ใช้สาร CFC ในปี 2540 นอกจากนี้ยังเป็นประเทศแรกที่เปลี่ยนตลาดเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HCFC ไปเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรกับโอโซนและสภาพอากาศมากขึ้นในปี 2560
- ดำเนินการโครงการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศในอาคารเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเลิกใช้สาร CFCs ในเวลาเดียวกัน แนวทางการดำเนินโครงการที่ได้รับประโยชน์ทั้งสองทาง (Dual Benefit Approach นี้ (โอโซนและสภาพภูมิอากาศ) ได้รวมอยู่ในการออกแบบแนวทางการให้ความช่วยเหลือภายใต้พิธีสารมอนทรีออลฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี ด้วย
บทบาทของกลุ่มธนาคารโลก
ธนาคารโลกได้มีส่วนร่วมในด้านการป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซนและการพัฒนาอุตสาหกรรมทำความเย็นในประเทศไทยผ่านการดำเนินงานของกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ซึ่งให้เงินทุนสนับสนุนทั้งสิ้นประมาณ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังมีบทบาทในการสร้างอำนาจในการต่อรองและบทบาทในฐานะหน่วยงานประสานที่เป็นกลางในการรับฟังข้อกังวล รวมถึงช่วยประสานและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายฝ่ายเพื่อช่วยให้สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันให้การดำเนินการเลิกการใช้สาร HCFCs ต่อไป
ความร่วมมือจากภาคส่วนค่างๆ
โครงการดังกล่าวได้สร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งและการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยโอโซนของประเทศและหน่วยงานหลักในการจัดการโครงการ ซึ่งทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกรมศุลกากรในการตรวจสอบและติดตามโควต้าการนำเข้าสารที่ทำลายชั้นโอโซน ทีมของธนาคารโลกยังได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและโฟมเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินโครงการนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารออมสินยังทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานในจัดการโครงการ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนทางการเงินในการตรวจสอบและกำกับดูแลการเบิกจ่ายเงินไปยังโครงการย่อย โครงการยังได้จัดฝึกอบรมสำหรับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพื่อเสริมสร้างความสามารถของผู้ฝึกสอนและอาจารย์เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีในการติดตั้งและให้บริการเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HFC ที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศมากขึ้น
การดำเนินการต่อไปในอนาคต
ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของพิธีสารมอนทรีออลได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดและเลิกการใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยาการศโอโซน ขั้นตอนต่อไปของประเทศไทยคือการให้สัตยาบันต่อพิธีสารมอนทรีออลฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี เพื่อลดการใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ด้วยสาร HFCs นั้นเป็นสารที่มีผลต่อการทำลายชั้นโอโซนเป็นศูนย์ ปัจจุบันจึงได้มีการนำสาร HFCs มาใช้เพื่อทดแทนสาร HCFCs และสาร CFCs อย่างไรก็ตาม พวกสาร HFCS ยังคงเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ธนาคารโลกจึงจะยังคงสนับสนุนการดำเนินการเพื่อรองรับพิธีสารมอนทรีออลฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี โดยการช่วยเหลือประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ในการลดการใช้สาร HFCs และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดและลดค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคต่อไป
ธนาคารยังตั้งเป้าหมายที่จะเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักๆ ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้การดำเนินการนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับวิธีการดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นอย่างเหมาะสม สิ่งนี้จะไม่เพียงยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สูงสุดด้วย ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ธนาคารโลกยังได้สนับสนุนกรมโรงงานอุตสาหกรรมของไทยในการจัด Policy Hackathon เป็นครั้งแรก โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 300 คนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ตั้งแต่กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ผู้ประกอบการเอกชน ไปจนถึงเจ้าของฟาร์มเกษตรกรรม - เพื่อพัฒนานโยบายจากประชาชน (Bottom-up Policy) ที่จะปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน โดยถือเป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างดีจากสมาชิกพิธีสารมอนทรีออลประเทศอื่น ๆ ที่สามารถจะเป็นต้นแบบให้มีการจัดทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ ต่อ