ประเด็นสำคัญ
บริบท
แม้จะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกที่กำลังพัฒนาต้องเผชิญกับปัญหามากมายในการรักษาประสิทธิภาพในการเติบโตไว้ ดังนี้
- การเติบโตของผลผลิตลดลงนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลก
- การเปลี่ยนแปลงด้านการค้าและเทคโนโลยีของโลกกำลังสร้างความท้าทายต่อกลไกสำคัญแห่งการเติบโตของประเทศเหล่านี้ ซึ่งก็คือการผลิตที่เน้นการส่งออก และ
- การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 รวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังกระตุ้นความต้องการการผลิตรูปแบบใหม่
เพื่อรักษาสมรรถนะทางเศรษฐกิจในระดับสูงเมื่อเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมมากขึ้น
ปัญหา
- แม้ว่าภูมิภาคนี้จะประสบความสำเร็จมาบ้างแล้ว แต่ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ (ยกเว้นจีน) มีประสิทธิภาพต่ำกว่าเมื่อดูที่ตัวชี้วัดความสำเร็จด้านนวัตกรรม
- และแม้ว่าประเทศต่างๆ จะเริ่มพัฒนาเข้าใกล้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในด้านการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ครั้งแรก แต่ก็ยังนำเทคโนโลยีเหล่านั้นไปใช้ในวงกว้างได้ช้า
- นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับประสิทธิภาพของนวัตกรรมในภูมิภาค รวมถึงระหว่างประเทศและในประเทศ ภาคส่วน และบริษัทต่างๆ
- นวัตกรรมปรากฏเป็นที่แพร่หลายในการผลิตมากกว่าการบริการ แม้ว่าการบริการจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงเป็นปัจจัยในการผลิต
- บริษัทส่วนใหญ่ยังคงห่างไกลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และมีเพียงบริษัทส่วนน้อยเท่านั้นที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมนวัตกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการวิจัยและพัฒนาที่ล้ำสมัย
“นวัตกรรม” หมายถึงอะไร
- คนทั่วไปมักจะเชื่อมโยงนวัตกรรมเข้ากับการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการพัฒนาดังกล่าวมักจะดึงดูดความสนใจจากผู้กำหนดนโยบายและสื่อ
- นวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับเอเชียตะวันออกที่กำลังพัฒนาจะนิยามคำว่านวัตกรรมให้กว้างขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง ”การสร้างสรรค์” Invention)เช่น การพัฒนาที่ผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี) และ “การแพร่กระจาย” (Diffusion) รวมถึง “การใช้” (Adoption) เทคโนโลยีและแนวปฏิบัติที่มีอยู่ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญในวิธีการผลิตหรือการดำเนินการของบริษัท การแพร่กระจายและการนำมาใช้นั้นเหมาะกับความสามารถของบริษัทส่วนใหญ่ที่ดำเนินงานในเอเชียตะวันออกที่กำลังพัฒนา
- สิ่งสำคัญซึ่งจะช่วยให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากคือการแพร่กระจายและการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ ไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์แต่เพียงอย่างเดียว
อะไรคือปัจจัยที่ยัเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรม
หลักฐานใหม่แสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมในภูมิภาค
- บริษัทต่างๆ มักขาดข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับผลตอบแทนของการลงทุนในนวัตกรรม
- ความสามารถด้านนวัตกรรมของบริษัท รวมถึงคุณภาพการจัดการมักจะไม่เพียงพอ
- พนักงานของบริษัทมักขาดทักษะที่จำเป็นในการใช้นวัตกรรม
- ตัวเลือกในการจัดหาเงินทุนที่จำกัดเป็นอุปสรรคในการจัดหาเงินทุนให้โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรม และ
- นโยบายและสถาบันด้านนวัตกรรมของประเทศไม่สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการของบริษัท
- สถาบันด้านนวัตกรรมให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์มากกว่าการแพร่กระจายและการนำมาใช้
- สถาบันด้านนวัตกรรมให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านการผลิตมากกว่านวัตกรรมด้านการบริการ และ
- ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันวิจัยแห่งชาติและบริษัทภาคเอกชนยังคงไม่แน่นแฟ้น เช่นเดียวกันกับแรงจูงใจในการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการวิจัยและอุตสาหกรรม
การกระตุ้นนวัตกรรมในภูมิภาคจะต้องทำอย่างไร
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ทั้งในแง่การแพร่กระจายและการสร้างสรรค์ ผู้กำหนดนโยบายของประเทศจำเป็นต้องดำเนินการ ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของนโยบายด้านนวัตกรรมเพื่อ
- ส่งเสริมการแพร่กระจายและการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ ไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์เท่านั้น
- ส่งเสริมนวัตกรรมในภาคบริการ ไม่ใช่แค่ภาคผลิตเท่านั้น
- ลงทุนในการเสริมสร้างความสามารถด้านนวัตกรรมของบริษัท
วัตถุประสงค์หลักของนโยบายด้านนวัตกรรมคือการเพิ่มจำนวนบริษัทที่มีส่วนร่วมในนวัตกรรมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่กระจาย การนำมาใช้ การสร้างสรรค์ และเพิ่มสัดส่วนของบริษัทที่เปลี่ยนจากการนำเทคโนโลยีมาใช้สู่รูปแบบการใช้นวัตกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น
- เสริมสร้างปัจจัยเสริมที่สำคัญสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม ได้แก่
- การพัฒนาทักษะของนักเรียนและพนักงานเกี่ยวกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม ได้แก่ ทักษะพื้นฐานที่แข็งแกร่ง รวมถึงทักษะทางความคิด เทคนิค และอารมณ์และสังคมขั้นสูง
- การเพิ่มเงินทุนสำหรับนวัตกรรมผ่านการเพิ่มความมั่นคงของตลาดทุนและเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อสนับสนุนนวัตกรรม
- การยกระดับคุณภาพการจัดการ
- ปฏิรูปสถาบันและหน่วยงานด้านนวัตกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถผ่าน
- การเพิ่มความสามารถของสถาบันในการออกแบบและดำเนินนโยบายด้านนวัตกรรม
- การปรับปรุงการกำกับดูแลของสถาบันและหน่วยงานด้านนวัตกรรม รวมถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงาน
- การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันวิจัยและ บริษัทต่างๆ รวมถึงแรงจูงใจในการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการวิจัยและอุตสาหกรรม
คำว่า "เอเชียตะวันออกที่กำลังพัฒนา” หมายถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 10 ประเทศที่ระบุไว้ในการศึกษานี้ ได้แก่ กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม