Skip to Main Navigation
publication

Long COVID: รายงานอัพเดทเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกประจำเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2564

Image





ประเด็นสำคัญและข้อแนะนำ

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับชะตาที่พลิกผัน ในปีพ.ศ. 2563 หลายประเทศในภูมิภาคนี้ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ต้องทุลักทุเลกับการแพร่ระบาดและประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัจจุบัน ภูมิภาคนี้กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ในขณะที่ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจทั้งหลายกำลังอยู่บนเส้นทางของการฟื้นตัว

การแพร่ระบาดนี้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและไม่มีวี่แววว่าจะจบลงในอนาคตอันใกล้ ในระยะสั้น การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นหลายระลอกอย่างต่อเนื่องจะทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนยืดเยื้อ นอกเสียจากจากประชาชนและกิจการต่างๆ จะสามารถปรับตัวได้  และในระยะยาว โควิด-19 จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงและความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เว้นเสียแต่ จะมีการเยียวยาความเสียหายและคว้าโอกาสต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะต้องมีการดำเนินนโยบายที่จะช่วยให้หน่วยเศรษฐกิจ (Economic Agents) สามารถปรับตัวได้และต้องตัดสินใจตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำที่จะเพิ่มขึ้นในวันข้างหน้า

ขณะนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น?

การฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังประสบกับความปราชัย  จีนคาดการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 8.5 ในปีพ.ศ. 2564 แม้แนวโน้มการเติบโตจะผ่อนลงแล้วก็ตาม ขณะที่การเติบโตโดยรวมทั้งภูมิภาคคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ซึ่งเป็นผลมาจากความสำคัญของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อภูมิภาค โดยประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคน่าจะเติบโตร้อยละ 2.5 เทียบกับร้อยละ 4.4 ที่เคยคาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับเดือนเมษายน โดยแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ ความยากจนจะยังคงอยู่และความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้นในหลายมิติ ในปีพ.ศ. 2564 ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ จะมีประชากรจำนวนมากถึง 24 ล้านคนตกอยู่ในความยากจนอันเนื่องมาจากโควิด-19 ขณะที่ทุกครัวเรือนล้วนประสบความเดือดร้อน แต่ครัวเรือนที่ยากจนกว่ามีแนวโน้มเดือดร้อนมากกว่า จากการสูญเสียรายได้ ต้องรีบขายทรัพย์สินที่ใช้ประกอบอาชีพ เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร และลูกหลานเข้าไม่ถึงการเรียนหนังสือ

ทำไม?

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีการส่งออกเพิ่มมากขึ้นก็ตาม มาตรการตรวจ-สืบย้อน-กักตัวที่ภูมิภาคนี้ประสบความสำเร็จในการดำเนินการในปีพ.ศ. 2563 กลับใช้ไม่ได้ผลกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ดังนั้น รัฐบาลต่างๆ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการอื่นๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ปัจจุบัน ความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจลดลงเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดลดลง และสถานการณ์ภายนอกภูมิภาคที่กระเตื้องขึ้นก็ช่วยให้การส่งออกของภูมิภาคเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

การฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นจะช่วยรักษาชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนได้แต่กลับเผชิญกับข้อจำกัด การฉีดวัคซีนที่สามารถจะช่วยลดการเสียชีวิตและการแพร่ระบาดได้นั้น ดำเนินไปอย่างล่าช้าในช่วงแรกแต่ก็เริ่มเร็วขึ้น โดยทั่วทั้งภูมิภาคนี้ สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสเพิ่มจากร้อยละ 18 โดยเฉลี่ยเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 เป็นร้อยละ 35 เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2564  ทั่วโลกพบว่าประเทศที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมสูงกว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วกว่า  การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเป็นปัญหาที่ทำให้ประเทศขนาดใหญ่ในภูมิภาคมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะที่ประเทศเล็กและยากจนกว่า เช่น ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกบางส่วน ได้ประโยชน์จากการบริจาควัคซีน แต่บางประเทศก็มีปัญหาติดขัดจากข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานในการกระจายวัคซีน และในหลายประเทศ แม้ระดับการฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้นแต่ความลังเลในการฉีดวัคซีนของประชาชนก็ยังเป็นข้อจำกัด

แนวโน้มการฉีดวัคซีนในปัจจุบันจะสามารถเปลี่ยนให้โควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เข้าสู่ระยะที่รุนแรงน้อยลงได้ภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 หลายประเทศในภูมิภาคน่าจะสามารถบรรลุการฉีดที่ครอบคลุมร้อยละ 60 ของประชากรได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า การฉีดวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 60 ไม่ได้เป็นการขจัดการติดเชื้อให้หมดไป หรือการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่และประเทศต่างๆ ยังต้องพยายามดำเนินการฉีดให้ครอบคลุมมากขึ้น ประสบการณ์จากประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในอัตราสูงชี้ให้เห็นว่าจะลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตลงได้อย่างมาก ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินต่อไปได้

ประเทศในภูมิภาคจะต้องดำเนินอีกสามมาตรการเพื่อควบคุมโควิด-19 มาตรการแรก จะต้องดำเนินการตรวจหาเชื้อ สืบย้อน และกักตัวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด มาตรการที่สอง ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพเพื่อรับมือกับโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อต่อไป และ มาตรการที่สาม จะต้องมีการขยายการผลิตวัคซีนรวมทั้งในภูมิภาคเพื่อรองรับความต้องการที่สูงอย่างต่อเนื่องและอุปทานที่ไม่แน่นอนของวัคซีนนำเข้า

โควิด-19 น่าจะส่งผลให้ภูมิภาคนี้มีการเติบโตช้าลงและความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากในระดับที่ภูมิภาคนี้ไม่เคยประสบมาก่อนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ความยากจนในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์อาจขยับเพิ่มขึ้นราว 2.0 จุดร้อยละในปีพ.ศ. 2566 หากไม่มีการดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำควบคู่ไปกับการฟื้นตัว

รอยแผลเป็นที่เกิดจากการแพร่ระบาดคาดว่าจะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ในอินโดนีเซีย มองโกเลีย และฟิลิปปินส์ กิจการต่างๆ มียอดขายรายเดือนลดลงไปอย่างน้อยร้อยละ 40 โดยเฉลี่ยและต้องปรับลดพนักงาน ความล้มเหลวของธุรกิจที่ควรจะอยู่รอดในสถานการณ์ปกติกำลังนำไปสู่การสูญเสียสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (intangible assets) ที่มีค่า เช่น ความสัมพันธ์กับผู้จัดหาวัตถุดิบหรือลูกค้าและความรู้ความชำนาญ ธุรกิจที่อยู่รอดก็กำลังชะลอการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลผลิต การว่างงานจะบั่นทอนทุนมนุษย์และส่งผลเสียต่อการสร้างรายได้ในอนาคต

ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในครัวเรือนในปัจจุบันอาจทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต การขาดรายได้หรือมีรายได้ลดลงอย่างฉับพลันและรุนแรง (Income shocks) ในหมู่คนจนจะส่งผลลบในระยะยาว การเทขายทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดผลผลิตและหนี้ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลเสียต่อรายได้ระยะยาว ความไม่มั่นคงทางอาหารเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแคระแกร็นที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของเด็กและการหารายได้ของผู้ใหญ่ การเรียนการสอนออนไลน์ที่เข้าถึงได้อย่างจำกัดอาจทำให้นักเรียนในวันนี้จะสามารถหารายได้ในอนาคตได้ลดลงร้อยละ 5.5 ต่อปี

สิ่งที่ต้องทำ?

การแพร่ระบาดได้สร้างโอกาสบางอย่างและนโยบายที่เหมาะสมจะสามารถส่งเสริมการเติบโตที่เป็นธรรมได้ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคจะต้องสนับสนุนการฟื้นตัวโดยไม่ส่งผลเสียต่อความยั่งยืนในเชิงมหภาค และจะต้องมีการปฏิรูประบบความคุ้มครองทางสังคมเพื่อให้ครอบคลุมถ้วนหน้า การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสามารถเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงหน่วยงานของรัฐ แต่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูประดับนโยบาย

การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมีความจำเป็น ไม่ใช่แต่เพียงเพื่อการบรรเทาทุกข์ แต่เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวและเป็นการลงทุนเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมถ้วนหน้ามากขึ้น ด้วยหนี้ที่พอกพูนขึ้น บางส่วนมีดอกเบี้ยสูง การสนับสนุนทางการคลังทั่วทั้งภูมิภาคได้ลดลง รัฐบาลควรดูแลให้ดีว่าการบรรเทาทุกข์ในปัจจุบันจะไม่ไปเบียดแย่งการลงทุนของรัฐในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและกฏระเบียบ เช่น พลังงานสะอาด การขนส่ง ระบบสุขภาพ และโรงเรียน หลายประเทศในภูมิภาคสามารถใช้ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (monetary policy space) เพื่อพยุงเศรษฐกิจแต่ต้องคอยระวังการจำกัดสินเชื่อที่เกิดขึ้นฉับพลันของโลก (global financial tightening) ต้องมีการเฝ้าระวังจับตาภาคการเงินอย่างใกล้ชิด การเปิดให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นจะต้องระวังปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้

การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้าจำเป็นต้องมีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ปรับตัวได้และการปฏิรูปการศึกษา ปัญหาช่องว่างในโครงข่ายรองรับทางสังคมสามารถแก้ไขได้ด้วยการขยายสิทธิในการรับความช่วยเหลือบนฐานของความต้องการให้รวมถึงคนจนที่ยังไม่ถูกครอบคลุม เพิ่มความครอบคลุมของการประกันสังคม และเปลี่ยนวิธีการหากลุ่มเป้าหมายจากแบบเดิมที่ตายตัวไปสู่การมีกลุ่มเป้าหมายแบบพลวัตร โรงเรียนจำเป็นต้องกลับมาเปิดอย่างปลอดภัยพร้อมด้วยการช่วยเหลือเยียวยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเพื่อชดเชยความสูญเสียในการเรียนรู้ ในการสร้างทุนมนุษย์ให้ตรงกับความต้องการในอนาคต การปฏิรูปการเตรียมความพร้อมของครู หลักสูตร และเนื้อหาและสื่อการเรียนการสอนจะต้องเสริมรับกับการลงทุนในเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech)

นโยบายต่างๆ ควรสนับสนุนกิจการ แต่ไม่ไปขัดขวางการเกิดขึ้นหรือการเลิกกิจการ การสนับสนุนกิจการที่ก่อให้เกิดผลผลิตจะต้องควบคู่ไปกับการสนับสนุนการเกิดขึ้นของกิจการที่คิดค้นนวัตกรรมด้วยการปฏิรูปสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและรองรับการเลิกกิจการที่อ่อนแอด้วยกฎหมายล้มละลายและกรอบการแก้ปัญหาที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น การปฏิรูปภาคบริการจะช่วยธุรกิจการเงิน การสื่อสาร การขนส่ง และบริการอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเทศต่างๆ ต้องลดอุปสรรคทางการค้าที่ยังคงมีอยู่ทั้งสินค้าและบริการ และปรับปรุงกฎระเบียบให้สนับสนุนการแข่งขันมากขึ้น

จำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีให้กว้างขวางมากขึ้น การช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มีทักษะในการผนวกเทคโนโลยีเข้ามาในการดำเนินธุรกิจ โดยจะต้องมีการเสริมนโยบายว่าด้วยความเปิดกว้างและการแข่งขันเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับกิจการต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้น  จำเป็นต้องขยายการเข้าถึงบรอดแบนด์ให้กว้างขวางมากขึ้นเพื่อเอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงยิ่งขึ้น