ขอบพระคุณครับ นพ. โกมาตร สำหรับการแนะนำตัว ผมอยากจะขอขอบคุณศาสตราจารย์วิจารณ์ และสำนักเลขาธิการคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสำหรับการทำงานอย่างหนักเพื่อจัดการประชุมนี้ขึ้น ขอขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับการต้อนรับทิ่อบอุ่น ศาสตราจารย์รัชตะ คุณลินคอล์น เฉิน และผู้ร่วมจัดงานทุกท่าน และพันธมิตรจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ องค์การอนามัยโลก และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ และเพื่อนรักของผม ดร. สุวิทย์ และ พอล ฟาร์มเมอร์
เมื่อวานนี้ผมได้รับเกียรติเข้ารับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลร่วมกับท่านผู้มีเกียรติอุทิศเวลาต่อสู้มาหลายปีเพื่อยุติการระบาดของโรคเอชไอวีเอดส์ ผมขอรับรางวัลนี้ในนามของกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนมากมายและหลากหลาย ผู้ทำงานเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวทั่วโลกในการทำให้ผู้คนทุก ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไรหรืออยู่ที่ไหน เข้าถึงการรักษาโรคนี้
แต่ยังเป็นเรื่องน่าเศร้าว่า งานของเรายังคงไม่จบลง มีผู้คนอีกนับล้านที่ยังเป็นผู้ติดเชื้อในแต่ละปี และมีผู้คนมากมายที่ถูกปิดกั้นจากการรักษาเนื่องจากบริการที่ไม่เพียงพอและ ว่ากันตรงๆ เลย คือเพราะการเลือกปฏิบัติ แต่นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ๆ ก็ได้เข้าร่วมการต่อสู้นี้ และผมมั่นใจว่าในช่วงชีวิตของเรา เราจะสามารถยุติหายนะของโรคเอดส์และทำให้ผู้คนนับล้านที่ตกอยู่ในเงื้อมมือของโรคร้ายนี้แสดงศักยภาพของตนเองได้
เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น พวกเราจะติดค้างคำขอบคุณนับครั้งไม่ถ้วนกับผู้คนมากมายที่ใช้ชีวิตกับโรคเอดส์ บุคลากรทางการแพทย์ และนักเคลื่อนไหวในประเทศไทย พวกเขาเป็นผู้นำรุ่นแรกๆ และเป็นผู้เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ในการต่อสู้ครั้งนี้
ด้วยการทำงานของผู้คนเหล่านี้ ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่จัดให้มีการรับมือป้องกันเอชไอวีที่ประสบผลสำเร็จ แผนการดังกล่าวช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงร้อยละ 90 จาก 150,000 รายในปี 2533 เหลือราว 10,000 รายในปี 2556 แผนการนี้ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างน่าทึ่งถึง 7.7 ล้านรายและช่วยประหยัดงบประมาณได้กว่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลตอบแทนทางการเงินกว่า 40 เท่าของการลงทุน
คนไข้กว่า 250,000 รายได้รับการรักษาโรคเอดส์ในประเทศไทย ซึ่งช่วยลดการเสียชีวิตจากเอชไอวีไปได้อย่างน้อยกึ่งหนึ่ง แต่โรคเอดส์ยังคงจัดเป็นสาเหตุการตายก่อนกำหนดอันดับต้นๆ ในประเทศไทย ดังนั้นยังมีเรื่องอีกมากที่ต้องทำในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เราจะทำงานร่วมกันต่อไปจนกว่าคนที่ใช้ชีวิตกับโรคเอดส์คนสุดท้ายจะได้รับการรักษา
ผู้กำหนดนโยบายทางสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์ และนักเคลื่อนไหวทั้งหลายของประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการต่อสู้ให้กับกลุ่มคนยากจนและกลุ่มผู้อ่อนแอ นโยบายหลักประกันสุขภาพที่ประสบความสำเร็จของไทยซึ่งรวมถึงการรักษาโรคเอดส์ที่ส่งอิทธิพลและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
ตอนนี้ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่จะมองย้อนกลับ ที่ความสำเร็จที่น่าทึ่งเหล่านี้ และคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นได้แน่ๆ
หลายๆ ท่านในห้องนี้ที่อยู่ในช่วงแรกๆ ของการต่อสู้กับโรคเอดส์รู้ว่า การประสบความสำเร็จเคยเป็นเรื่องไกลเกินจริง
ตอนที่ผมเรียนแพทย์อยู่ปี 1 เราเพิ่งจะเริ่มเข้าใจถึงการทำลายล้างของไวรัสเอชไอวี ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องเร้นลับที่ยากจะเข้าใจได้ โรคร้ายนี้คุกคามเราดั่งเป็นพายุไซโคลนที่กำลังประชิดเข้ามา คาดกันว่าโรคเอดส์จะคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นสิบๆ ล้าน ร้อยๆ ล้าน โรคเอดส์นับเป็นความท้าทายทางสาธารณสุขที่ใหญ่โตยากเกินจะเข้าใจและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ณ เวลานั้น
แต่เราพัฒนาการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้รวดเร็วกว่าที่เราคิดกันเอาไว้ นักเคลื่อนไหวเอชไอวีโจมตีทุกข้อต่อของห่วงโซ่คุณค่าเพื่อให้ได้มาซึ่งยาและการรักษา เราก็ได้พัฒนายาที่ใช้รักษาโรคได้จากที่เราเริ่มต้นโดยไม่มีอะไรเลย โทนี่ ฟอซี่เป็นบุคคลสำคัญที่เร่งให้มียาจำหน่ายในตลาด เริ่มตั้งแต่ยาต้านไวรัสตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้เพื่อการรักษาโรคเอดส์ในปี 2530 การใช้ยาเดี่ยวและยาเป็นชุด ตามด้วยงานบุกเบิกของเดวิด โฮ ในการใช้การรักษาต้านไวรัสที่ได้ผลอย่างดียิ่ง
ผู้ติดเชื้อมีมัธยฐานระยะเวลาการอยู่รอดเพิ่มมากขึ้นจากเพียง 28 สัปดาห์เป็น 50 ปีสำหรับคนหนุ่มสาว ความพยายามอย่างกว้างขวางในวิทยาศาสตร์และการสนับสนุนได้เปลี่ยนให้วิกฤติทางสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดของโลกกลายเป็นความสำเร็จที่ล้ำเลิศที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ทางการสาธารณสุขและการแพทย์
แต่เมื่อเราคิดว่าจะนำการรักษาดังกล่าวไปให้ถึงผู้คนที่ยากจนที่สุดทั่วโลก ความคิดความรู้สึกก็เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนคิดกันโดยทั่วไปว่า การรักษผู้ป่วยโรคเอดส์ในประเทศอย่างประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่นๆ เป็นสิ่งที่แพงเกินไป ยากเกินไป และมีโอกาสสำเร็จต่ำมาก
ในความเป็นจริงแล้ว ผู้นำสำคัญที่สุดของโลกด้านสาธารณสุขบางคนต่อต้านเรื่องนี้อย่างเกรี้ยวกราด และกระทั่งล้อเลียนความพยายามของเรา และพูดถึงการพุ่งเป้าไปที่การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในคนรุ่นต่อไป
น่ายินดีจริงๆ ที่ยังมีคนอีกมาก ที่มองเห็นความทุกข์ทรมานผู้ป่วย และรู้สึกว่าต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง พวกเขามีความปรารถนามากพอๆ กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทุกแห่งทั่วโลก อันที่จริงแล้ว นักเคลื่อนไหวเหล่านี้เอง บางคนก็เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย
ผลลัพธ์คือ มีผู้คนนับล้านที่ได้รับการรักษา ชีวิตนับล้านได้รับการช่วยเหลือ เราสามารถเลี่ยงค่าใช้จ่ายทางทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐกิจที่ไม่อาจประเมินค่าได้
ภาวะผู้นำอย่างมีวิสัยทัศน์ของบุคลากรทางการแพทย์และนักเคลื่อนไหวของไทยได้ช่วยชีวิตผู้คนที่นี่และทั่วโลก พวกเขาได้แสดงให้เราเห็นว่าอะไรเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ บุคคลอย่างคุณมีชัย วีระไวทยะ หรือที่ทั่วโลกรู้จักกันในนาม มิสเตอร์คอนด้อม และเพื่อนของผมเอง นพ. วิวัฒน์ โรจนพิธยากรได้ทำลายข้อห้ามเรื่องการพูดคุยถึงถุงยางอนามัยและเรื่องเพศ ความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการรักษาและการป้องกัน อีกทั้งการรวมโรคเอดส์เข้าไว้ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการมองการณ์ไกลและได้ช่วยชีวิตผู้คนไว้มากมายเหลือเกิน
ความสำเร็จของประเทศไทยในการป้องกันและรักษาโรคเอดส์เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น การได้มาซึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เช่นกัน อันที่จริงแล้วเรื่องนี้ดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยตอนที่โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2554
หลายปีก่อนหน้านั้น ในปี 2540 เศรษฐกิจประเทศไทยฟองสบู่แตก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทรุด เงินบาทลดค่าลงไปร้อยละ 45 การว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ตลาดหุ้นเสียมูลค่าไปสามในสี่ รัฐบาลกู้เงิน 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐจาก IMF เพื่อแก้วิกฤติทางการเงิน การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดและทำให้การเสนอโครงการใหม่ๆ เป็นเรื่องท้าทายเป็นอย่างมาก
มีน้อยคนนักที่จะมองว่าช่วงนี้เป็นฤกษ์ดีในการสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไทยทุกคน แต่ก็มีผู้ที่มีวิสัยทัศน์จำนวนหนึ่งที่วาดฝันเอาไว้และวางแผนเรื่องนี้ไว้เป็นทศวรรษ
แต่คนเหล่านี้ก็มีศัตรูอยู่มากมาย อย่างน้อยที่สุดหนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มธนาคารโลก ใช่แล้วครับ สถาบันที่ตอนนี้ผมรับตำแหน่งเป็นประธานเป็นปรปักษ์ต่อต้านความปรารถนาของประเทศไทยในการให้หลักประกันสุขภาพกับคนไทยทุกคนอย่างชัดเจน ทางธนาคารและผู้อื่นบอกว่า เวลานั้นเป็นช่วงที่ไม่เหมาะสมสำหรับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บอกว่าความพยายามนั้นจะไม่สัมฤทธิ์ผล และบอกว่าการทำเช่นนั้นเป็นการฆ่าตัวตายทางการคลัง
ศัตรูคนสำคัญอีกรายหนึ่งก็คือองค์การอนามัยโลก ซึ่งธรรมนูญขององค์กรกล่าวว่า องค์กรมีอยู่เพื่อ “การบรรลุถึงการมีสุขภาพอนามัยที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ของประชากรทั้งปวง”
ใช่ครับ ผมเองก็เคยทำงานอยู่ที่องค์การอนามัยโลกด้วย
ผมได้ลองจินตนาการว่าบทสนทนาเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร
“ขอโทษนะประเทศไทย แต่ตอนที่พวกเราพูดถึงเรื่อง ‘สุขภาพดีถ้วนหน้า’ ภายในปี 2543 นั้นคือเราพิมพ์ผิด ที่จริงแล้วเราหมายถึงสุขภาพดีถ้วนหน้าภายในปี 3543 ต่างหาก”
ดังนั้น เมื่อมีศัตรูทรงพลังอย่างที่ว่ามา บางประเทศอาจสิ้นศรัทธาและล้มเลิกไป
แต่ไม่ใช่คนไทย
คนไทยมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเรื่องความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ คนไทยได้ทำงานมาเป็นทศวรรษเพื่อให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไทยด้วยกัน อันที่จริงแล้ว รัฐธรรมนูญไทยได้ให้การรับรองสิทธิของคนไทยทุกคนในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ รวมถึงกลุ่มคนที่ยากจนที่สุด
ภายในปี 2544 เมื่อประเทศไทยเริ่มต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีประชากรกว่าหนึ่งในสามที่ไม่ได้รับการคุ้มครองสุขภาพ คนมากมายจากในกลุ่มนี้เป็นคนจนที่ครอบครัวอาจหมดเนื้อหมดตัวได้เพราะการเจ็บป่วยรุนแรง
ทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ข้าราชการ และบุคลากรทางการแพทย์ต้องสร้างการสนับสนุนระดับรากหญ้าที่กว้างขวางเพื่อการปฏิรูป โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นโครงการที่แต่ละรัฐบาลให้ความสำคัญลำดับสูงสุดแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลไป บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยได้เลือกหนทางที่ชาญฉลาดและใช้การตัดสินใจอิงหลักฐานเพื่อสร้างระบบที่ใช้การได้สำหรับคนไทย
วันนี้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ให้บริการทางสุขภาพที่ครบวงจรและได้ทำให้ประเทศไทยมีประชากรที่มีสุขภาพดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายในหนึ่งปีโครงการดังกล่าวได้ทำให้ผู้คนที่ไร้หลักประกันสุขภาพ 18 ล้านคนมีหลักประกันสุขภาพ เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ การรวมเอาการรักษาและการป้องกันโรคเอดส์เข้าไว้ในโครงการได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของประสิทธิผล และขยายกรอบความครอบคลุมสุขภาพ
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งสำหรับความสำเร็จของประเทศไทยคือการเร่งพัฒนาทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งใช้เวลากว่าสองทศวรรษจากเขตเมืองไปเขตชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนจนและคนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองสุขภาพอาศัยอยู่ รัฐบาลชุดถัดๆ มาก็ได้ให้สิ่งจูงใจเชิงบวกกับบุคลากรทางการแพทย์ให้ทำงานในเขตที่ไม่ได้รับบริการก่อนหน้านี้และเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ ทักษะ และประสิทธิผลของพวกเขา คนทำงานในชนบทได้รับเงินเดือนสูงกว่าคนในเมืองด้วยซ้ำ
เราควรจะยกย่องการทำงานของคุณประเวศ วะสี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ก่อตั้งความเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบทในประเทศไทยและเป็นผู้เขียนบทความทรงอิทธิพลเรื่อง “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” สามเหลี่ยมดังกล่าวหมายถึงการมีส่วนร่วมสามจุดที่สำคัญในการเริ่มการปฏิรูป นั่นก็คือ พลังทางปัญญา พลังของอำนาจรัฐ และพลังทางสังคม การผสมผสานของทั้งสามพลังนี้ส่งความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมาในประเทศไทย
ในช่วงสิบปีแรกของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งซึ่งได้ให้ทรัพยากรทางการคลังสำหรับการปฏิรูปให้อยู่รอดและคงอยู่ได้ และผู้ที่ยากจนที่สุดก็ได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ด้วย การศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นเพียงประเทศเดียวที่ผู้บริโภครายได้ต่ำได้เพิ่มส่วนแบ่งการบริโภครวม
โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่คนไทยชื่นชอบ คนไทยร้อยละ 90 มีความพึงพอใจกับโครงการนี้ เสียงที่เข้มแข็งของพวกเขาได้ช่วยยืนยันว่าโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและการพัฒนา และแม้ว่าตอนที่เริ่มต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลที่น้อยที่สุดกว่าประเทศใดๆ ที่บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
โครงการดังกล่าวไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์แบบ ยังคงมีปัญหามากมายที่ก่อตัวขึ้นเนื่องจากมีคนใช้บริการมากขึ้น เมื่อประชากรมีอายุมากขึ้น และเมื่อการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และโรคไม่ติดต่ออย่างโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ธรรมดามาก การบริหารระบบให้บริการทางสุขภาพก็เหมือนการแต่งสวนเมืองร้อน มีวัชพืชที่ต้องถอน มีดอกไม้ที่ต้องปลูก และกิ่งก้านที่ต้องตัดแต่งมากกว่า ผมมีศรัทธาว่า ประเทศไทยต้องประสบความสำเร็จในการได้มาซึ่งการรักษาที่มีคุณภาพที่สูงขึ้นและมีความเสมอภาคมากขึ้น ในสภาวะที่เป็นอยู่นี้ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นมรดกมีชีวิตระดับแนวหน้าของข้าราชการ นักเคลื่อนไหว และบุคลากรทางการแพทย์มากมายหลายท่าน ที่ล้วนเป็นผู้อุทิศตน และมีความมุ่งมั่นในการสร้างความยุติธรรมเรื่องการรักษาพยาบาล
ระหว่างที่ผมเดินทางไปทั่วโลก ผมบอกเล่าเรื่องราวโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยว่าเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ ที่ปรารถนาที่จะได้มาซึ่งผลสัมฤทธิ์อย่างเดียวกันให้กับประชากรของตนเอง
ผมขอขอบคุณ และแสดงความยินดีกับคุณด้วยสำหรับความสำเร็จนี้
แล้วเราได้บทเรียนอะไรจากการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการรักษาโรคเอดส์และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าบ้าง?
ประการที่หนึ่ง เราได้เรียนรู้ว่าการลงทุนกับผู้คน ไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกทางศีลธรรมที่ถูกต้อง แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างแท้จริง ผมได้อุทิศชีวิตของผมในการสาธิตว่า การไม่จัดหาความคุ้มครองทางสุขภาพ การศึกษา อาหาร และสังคมเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมโดยพื้นฐาน และยังถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่แย่อีกด้วย
คณะกรรมการแลนเซ็ตด้านการลงทุนทางสุขภาพประเมินว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 24 ในประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำและกลางมาจากสุขภาพที่ดีขึ้น ผลตอบแทนนั้นมหาศาล นั่นคือ การใช้จ่ายทางสุขภาพก่อให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนตั้งแต่เก้าถึงยี่สิบเท่า
และรายงาน Growth Commission นำโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ไมเคิล สเปนซ์ รายงานว่า “ไม่มีประเทศใดที่รักษาการเจริญเติบโตให้ยั่งยืนได้โดยไม่อัตราการลงทุนสาธารณะขนาดใหญ่ได้” เช่น การศึกษาและสุขภาพ นอกเหนือไปจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในผู้คนแบบนี้ไม่ได้ไปบดบังการลงทุนของเอกชน แต่กลับทำให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม กิจการใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นและผลตอบแทนก็เพิ่มสูงขึ้นเพราะคนงานมีสุขภาพดีและได้รับการศึกษารักษา
บทเรียนที่สองคือการปฏิรูปที่ตั้งเป้าสูง ต้องใช้ทักษะในการรักษาความสมดุลของความต้องการที่แข่งขันกัน และยังต้องมีการเรียนรู้และการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นฐานจากความรู้และหลักฐานที่ดีที่สุดจากทั่วโลก ความสำเร็จของบุคลากรทางการแพทย์ และนักเคลื่อนไหวของประเทศไทยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และโรคเอดส์แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งที่พวกเราที่กลุ่มธนาคารโลกเรียกว่า ศาสตร์แห่งการนำส่งบริการ
พวกเขาให้ความสนใจอย่างระมัดระวังกับปัจจัยทุกตัวที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ระบบการขนส่งวัคซีนที่ต้องใช้ความเย็นคงที่ ไปจนถึงการบริหารจัดการด้านการเงินของระบบสุขภาพ ตั้งแต่ถนน ไฟฟ้าสำหรับคลินิก ไปจนถึงการศึกษาของเด็กผู้หญิง
เมื่อสองวันก่อนผมเดินทางไปเยือนประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเพิ่งเริ่มความพยายามของประเทศในการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศเมียนมาร์สามารถเรียนรู้จากวิธีการของประเทศไทยได้เพื่อการปฏิรูปด้านสุขภาพที่มีประสิทธิผล
การพุ่งความสนใจไปที่ผลลัพธ์เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากเพื่อบรรลุการปฏิรูปที่ซับซ้อนเช่นนั้น
เจตนาดีเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นประโยชน์มากนักกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในหมู่บ้านชนบท เธอต้องการระบบรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพเพื่อให้กำเนิดลูกสาวที่สุขภาพดี ปกป้องลูกจากโรคเด็กต่างๆ และช่วยให้ลูกของเธอกลายเป็นเด็กที่ได้รับการศึกษา และเป็นคนที่ทำสิ่งดีๆ ให้กับชุมชนของเธอเอง นอกจากนี้ ผู้นำและเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพต้องมีความมุ่งมั่นต่อสาธารณะเพื่อจัดหาบริการที่มีคุณภาพ เคลื่อนตัวผ่านมรสุมทางการเมือง และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ของทุกคน
บทเรียนที่สามคือ กระทั่งคนที่มีความมุ่งมั่นที่มีวิสัยทัศน์ไม่กี่คนก็มีพลังที่จะเปลี่ยนโลกได้ การเชื่อในความเป็นไปได้ ว่า โลกเราจะดีกว่านี้เป็นขั้นตอนแรกของการบรรลุผล
การต่อสู้กับโรคเอดส์ทั่วโลกเป็นชัยชนะของวิสัยทัศน์อันเข้มแข็งเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานร่วมกับความคืบหน้าทางวิทยาศาสตร์ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วโลก
ในประเทศไทย ความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อและความอดทนของบุคลากรทางการแพทย์ และนักเคลื่อนไหวนับพันๆ คนได้แสดงให้พวกเราทั้งหมดเห็นว่า การไล่ตามวิสัยทัศน์เพื่อความเป็นธรรมด้านสุขภาพนั้นเป็นอย่างไร คุณสร้างความเคลื่อนไหวที่ช่วยชีวิตคน เปลี่ยนประเทศของคุณเอง และให้ความหวังที่แพร่กระจายกับผู้คนนับล้าน
บทเรียนเหล่านี้เป็นเรื่องสากลและเป็นนิรันดร์
พวกเขาสามารถนำพวกเราได้ขณะที่พวกเราทำงานเพื่อโลกที่ดีกว่านี้
โลกที่ทุกคน ทั้งคนรวยคนจน มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ
โลกที่ทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาโรคเอดส์
ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและโอกาส การปฏิเสธสิทธินี้ การแย่งชิงความหวังไป คือการปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของพวกเขาและของพวกเราเอง
เราสามารถบรรลุสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้หากเราทำตามแสงแห่งวิสัยทัศน์ที่มีศีลธรรม
หากเรามีจิตวิญญาณที่กล้าหาญ
หากเราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ และมีส่วนร่วมในปัญญาอิงหลักฐานที่ยั่งยืน
งานของเรายังไม่เสร็จสิ้นลง แต่ขณะที่ผมอยู่กับพวกคุณอยู่ที่นี่ ผมมีศรัทธาตลอดไปว่า พวกเราร่วมกันสร้างโลกที่มีโอกาส ความเสมอภาค และความยุติธรรมมากกว่านี้ได้
ขอบคุณมากครับ