กรุงเทพฯ, 26 มีนาคม 2568 – กรุงเทพฯ ได้ดำเนินมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมท่ามกลางภาวะความร้อนในเมืองที่ทวีความรุนแรงและกำลังกลายเป็นความท้าทายที่เร่งด่วน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รายงานใหม่ที่เปิดตัววันนี้ โดยธนาคารโลกและกรุงเทพมหานครชี้ว่า หากไม่มีมาตรการรับมือที่เพียงพอ อุณหภูมิในเมืองที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียสอาจทำให้กรุงเทพฯ เผชิญกับการเสียชีวิตจากความร้อนกว่า 2,300 ราย การสูญเสียค่าจ้างแรงงานกว่า 44,000 ล้านบาท และค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นราว 17,000 ล้านบาทต่อปี
จากการศึกษาเรื่อง “พลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เย็นสบาย แก้ปัญหาความร้อนเพื่อมหานครที่น่าอยู่” กรุงเทพฯ ประสบปัญหาภาวะความร้อนในเมืองที่ทวีความรุนแรงและยาวนานขึ้น โดยมีปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island - UHI) ทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากพื้นที่ที่มีการก่อสร้างหนาแน่นได้กลายเป็นแหล่งกักเก็บความร้อนที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ผลิตภาพแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐาน หากไม่มีมาตรการรับมือที่เพียงพอภายในปี พ.ศ. 2593 อุณหภูมิที่อันตรายอาจทำให้ไม่สามารถทำงานต่าง ๆ กลางแจ้งได้ และอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ราว 880,000 คน และผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ประมาณ 1 ล้านคน ที่เผชิญความเสี่ยงสูงจากความร้อนในเมือง
“ความร้อนในเมืองไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน” เมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าว “รายงานฉบับนี้นำเสนอแนวทางปฏิบัติทให้แก่ผู้นำและภาคธุรกิจเพื่อช่วยให้กรุงเทพฯ สามารถปรับตัวต่อความร้อน ปกป้องประชาชนที่เปราะบางที่สุด รักษาอาชีพในอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อความร้อน และเสริมความแกร่งทางเศรษฐกิจในระยะยาว”
เพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อจัดตั้งศูนย์ทำความเย็น (cooling shelters) เพิ่มพื้นที่สีเขียว และนำระบบเตือนภัยความร้อนมาใช้ รายงานได้เสนอมาตรการเพิ่มเติมและการปฏิรูปเชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น การเพิ่มขีดความสามารถระบบเตือนภัย การเปิดศูนย์ทำความเย็นในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น และการบูรณาการเรื่องความร้อนเข้าสู่นโยบายระยะยาวและการวางแผนเมือง ทั้งด้านกฎหมาย ข้อบังคับอาคาร แผนที่ความร้อนระดับท้องถิ่น รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับมือกับความร้อนเพื่อให้มีงบประมาณที่ต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา
"การเติบโตของกรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีมาตรการรับมือปัญหาความร้อนในเมืองอย่างเด็ดขาด” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว "ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะจากรายงานฉบับนี้จะเป็นแนวทางที่ดีในการดำเนินงานเพื่อปกป้องประชาชนที่เปราะบางที่สุด ตลอดจนสร้างมหานครที่น่าอยู่และแข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับคนรุ่นหลัง"
รายงานได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจ และชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้มาตรการรับมือระยะสั้นสอดคล้องกับแนวทางแก้ไขระยะยาว หากมีการบูรณาการเหล่านี้ กรุงเทพฯ จะสามารถมุ่งเน้นไปที่ประชาชนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และหน่วยงานที่ต้องร่วมมือกันเพื่อบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารโลกและกรุงเทพมหานครมุ่งมั่นทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อแปลงข้อเสนอแนะให้เป็นการดำเนินงานที่ช่วยให้กรุงเทพฯ สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น