กรุงเทพฯ 14 กุมภาพันธ์ 2568 – รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย Thailand Economic Monitor ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในวันนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 จาก 2.6% ในปี 2567
แรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาจากการลงทุนที่ฟื้นตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงขึ้นและการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแผน นอกจากนี้ การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568 ในขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก นวัตกรรม ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีความยืดหยุ่นและพลวัตสูง จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการเติบโตอย่างยั่งยืน
เมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า “ประเทศไทยมี ความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการที่กล้าตัดสินใจ การลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต”
จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและโครงการโอนเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล อัตราความยากจนลดลงเหลือ 8.2% ในปี 2567 จาก 8.5% ในปี 2566
อย่างไรก็ดี แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีกว่าที่คาดไว้ แต่ GDP ของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควรเป็น โดยความท้าทายหลัก ได้แก่ การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสังคมผู้สูงอายุ
เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยมีโอกาสในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน การขยายฐานภาษีและการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ส่งเสริมการเติบโตในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความ ยั่งยืนในระยะยาว”
เมื่อมองไปข้างหน้า รายงานระบุว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถจะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต แต่ SMEs และสตาร์ทอัพ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของธุรกิจในประเทศไทยและ เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ ยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี และตลาดต่างประเทศ
การพัฒนาสตาร์ทอัพดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ยังเป็นอีกหนึ่งด้านที่ควรได้รับการปรับปรุง โดยจำเป็นต้องเสริมสร้างกรอบการกำกับดูแล โดยเฉพาะในด้านการแข่งขัน การค้า และการลงทุน รวมถึงการขยายการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้
การศึกษาและการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลและการเป็นผู้ประกอบการจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ แรงงานไทยในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและขยายธุรกิจ นอกจากนี้ การเสริมสร้างบทบาทของไทยใน ห่วงโซ่มูลค่าโลกและการบูรณาการระดับภูมิภาคจะช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศใน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
คริสเตียน กิฮาดา ตอร์เรส ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านภาคเอกชนของธนาคารโลก กล่าวว่า “นวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปในเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเสริมสร้างศักยภาพให้ SMEs และสตาร์ทอัพด้วยเครื่องมือ แหล่งเงินทุน และทักษะที่เหมาะสมจะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของประเทศไทย เพื่อการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืนในระยะยาว”