Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567

เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก: การเติบโตอย่างมั่นคงในช่วงเวลาที่ท้าทาย

วอชิงตัน ดี.ซี. 7 ตุลาคม 2567 – ธนาคารโลก (World Bank) ระบุในรายงานอัพเดทเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Economic Update) ว่าในปี พ.ศ. 2567 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific: EAP) ที่กำลังพัฒนา ยังคงเติบโตเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก แต่ช้ากว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดของโควิด-19

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัวร้อยละ 4.8 ภายในปี พ.ศ. 2567 แต่จะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 4.4 ในปี พ.ศ. 2568 โดยการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค คาดว่าจะลดลงจากร้อยละ 4.8 ในปีนี้ เหลือร้อยละ 4.3 ในปี พ.ศ. 2568 เป็นผลมาจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนต่ำ รวมถึงความท้าทายเชิงโครงสร้าง เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและสถานการณ์ความขัดแย้งในระดับโลก

ธนาคารโลกยังคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 ในปี พ.ศ. 2567 เป็นร้อยละ 4.9 ในปี พ.ศ. 2568 จากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัว และการกลับมาของการท่องเที่ยว ในบรรดาประเทศขนาดใหญ่ มีเพียงอินโดนีเซียเท่านั้นที่คาดว่าจะเติบโตในปี พ.ศ. 2567 และ 2568 ได้ในระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 หรือสูงกว่านั้น ในขณะที่การเติบโตในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม คาดว่าจะต่ำกว่าระดับดังกล่าว สำหรับกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.5 ในปี พ.ศ. 2567 และร้อยละ 3.4 ในปี พ.ศ. 2568 เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่การเติบโตของการลงทุนยังคงอ่อนแอทั่วทั้งภูมิภาค

“ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก” มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “อย่างไรก็ตาม การเติบโตเริ่มชะลอตัว เพื่อรักษาการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะกลางไว้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะต้องดำเนินการเชิงรุกในการปรับปรุงและปฏิรูปเศรษฐกิจของตนให้ทันสมัยเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทางการค้าและเทคโนโลยี”

รายงานอัปเดตเศรษฐกิจฉบับนี้ เน้นปัจจัยสามประการที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตในภูมิภาค ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการค้าและการลงทุน การชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของนโยบายระดับโลกที่เพิ่มขึ้น

ประการแรก ความตึงเครียดทางการค้าล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้สร้างโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ เช่น เวียดนามได้ขยายบทบาทของตนในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains) ด้วยการ "เชื่อมโยง (connecting)" พันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ โดยพบว่าบริษัทเวียดนามที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มียอดขายเติบโตเร็วกว่าบริษัทที่ส่งออกไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ เกือบร้อยละ 25 ในระหว่างปี พ.ศ. 2561 - 2564 อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานใหม่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอาจถูกจำกัดให้มีบทบาทเป็น "ตัวเชื่อมโยงทางเดียว (one-way connector)" มากขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดกฎเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้า (rules-of-origin) ที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับการนำเข้าและการส่งออก

ประการที่สอง ประเทศเพื่อนบ้านของจีนได้รับประโยชน์จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของจีนตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่ขนาดของแรงกระตุ้นดังกล่าวกำลังลดลง จีนดึงประเทศอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยความต้องการนำเข้า แต่ขณะนี้การเติบโตดังกล่าวยังต่ำกว่า GDP เสียอีก โดยการนำเข้าเติบโตเพียงร้อยละ 2.8 ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ เทียบกับราวร้อยละ 6 ต่อปีในช่วงทศวรรษก่อนหน้า

ประการที่สาม ความไม่แน่นอนของนโยบายระดับโลกอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก นอกจากความไม่แน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและราคาหุ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ลดลงถึงร้อยละ 0.5 และร้อยละ 1 ตามลำดับ

การนำเสนอในหัวข้อพิเศษ (Special Focus) ในรายงานฉบับนี้ ได้ศึกษาว่าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อสร้างงานให้กับประชาชนของตนต่อไปได้อย่างไร หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแพลตฟอร์มดิจิทัล ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในภูมิภาค ระหว่างปี พ.ศ. 2561 ถึง 2565 การนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วยสร้างงานให้กับแรงงานที่มีทักษะอย่างเป็นทางการประมาณ 2 ล้านคน (ร้อยละ 4.3 ของแรงงานมีฝีมือ) เนื่องจากผลิตภาพที่สูงขึ้นและขนาดการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการทักษะเสริม แต่หุ่นยนต์ก็ได้เข้ามาแทนที่แรงงานที่มีทักษะต่ำประมาณ 1.4 ล้านคน (ร้อยละ 3.3 ของแรงานทักษะต่ำ) ในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ประเทศ

เมื่อพิจารณาถึงประเภทของงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้แรงงานคน ทำให้งานที่ AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนที่ได้มีสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจขั้นสูง แต่ภูมิภาคนี้ก็ยังอยู่ในสถานะที่ใช้ประโยชน์จากของ AI ในการเพิ่มผลิตภาพได้น้อย เนื่องจากมีงานเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่สามารถนำ AI เข้ามาสนับสนุน ในขณะที่ ประเทศที่มีเศรษฐกิจขั้นสูงมีงานที่สามารถใช้ AI สนับสนุนได้มากถึงประมาณร้อยละ 30

“รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก ที่มีการพึ่งพาตลาดโลกที่เปิดกว้างและการผลิตที่ใช้แรงงานเป็นหลักนั้น กำลังเผชิญกับความท้าทายจากความตึงเครียดด้านการค้าและเทคโนโลยีใหม่ ๆ”อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก กล่าว “การตอบสนองที่ดีที่สุด คือ การกระชับข้อตกลงทางการค้า และเพิ่มทักษะและความสามารถในการเคลื่อนย้ายของแรงงาน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ”  

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่: 2025/21/EAP

รายชื่อผู้ติดต่อ

Geetanjali Chopra
+1(202) 288929
Ngan Nguyen
+1 (202) 725 2913

บล็อก

    loader image

เรื่องราวใหม่ๆ

    loader image