Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เมืองรองมีความสําคัญต่อเศรษฐกิจไทย หลังธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 เติบโตร้อยละ 2.4

กรุงเทพฯ 3 กรกฎาคม 2567 – ในรายงานฉบับใหม่ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นในปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างช้า ๆ  และการฟื้นตัวของการส่งออก

นอกจากนี้ รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ของธนาคารโลกยังคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวร้อยละ 2.4 ในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในปี 2566  อย่างไรก็ตามตัวเลขที่คาดการณ์ดังกล่าวลดลงจากตัวเลขที่เผยแพร่ในเดือนเมษายนจุดร้อยละ 0.4 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐในช่วงต้นปีที่น้อยกว่าคาดการณ์                    

ในปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือร้อยละ 0.7 โดยลดลงจากร้อยละ 1.3 ในปีที่ผ่านมาและเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค  ซึ่งมีสาเหตุจากราคาอาหารและพลังงานที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างช้า ๆ ทั้งนี้  อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นสู่ร้อยละ 1.1 ในปี 2568

ในด้านการท่องเที่ยว  รายงานคาดว่าจะมีจํานวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 36.1 ล้านคนในปี 2567 โดยสูงกว่าในปี 2566  ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 28.2 ล้านคน และใกล้เคียงกับจำนวนสูงสุดของช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19  อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า ในปีหน้าจะมีจํานวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามารวมทั้งสิ้น 41.1 ล้านคน
ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนได้กลับมาท่องเที่ยวเป็นจํานวนมาก

ในปี 2568 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.8  จากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าหนี้สาธารณะของไทยคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับเสถียรภาพ  แต่รัฐบาลต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคมและการลงทุนภาครัฐเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ

"ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่สําคัญ ซึ่งรวมถึงความท้าทายด้านผลิตภาพและการลดลงของประชากรวัยทํางานจากแนวโน้มด้านประชากรของประเทศ" นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจําไทย กล่าว   "การฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน โดยเมืองรองของไทยหลายเมืองมีศักยภาพที่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และเป็นกุญแจสําคัญในการนำประเทศกลับสู่เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน"

ในหัวข้อพิเศษของรายงานฉบับนี้ได้เน้นย้ำถึงศักยภาพและบทบาทที่สำคัญของเมืองรองของไทยในการส่งเสริมการเติบโตของประเทศในอนาคต  โดยเหตุการณ์อุทกภัยในกรุงเทพฯ ปี 2554 เป็นสิ่งยืนยันถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองเดียวมากจนเกินไป และเน้นย้ำถึงความจําเป็นในการกระจายการเติบโตไปยังเมืองศูนย์กลาง (Urban centers) ต่าง ๆ

เมืองรองจำนวนมากของไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและมีอุตสาหกรรมที่หลากหลายอยู่แล้ว  โดยจากข้อมูลล่าสุด เมืองรองมีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวสูงกว่ากรุงเทพฯ เกือบ 15 เท่า  ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทุนมนุษย์ และการพัฒนาขีดความสามารถของสถาบันที่เหมาะสม จะทำให้เมืองรองเหล่านี้สามารถเพิ่มผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวได้ระบุถึงข้อเสนอแนะที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของไทยในระยะยาวของเมืองรอง ซึ่งรวมถึงการกระจายอำนาจในการตัดสินใจด้านการลงทุน ตลอดจนการเพิ่มความเป็นอิสระทางการคลังของเมืองเหล่านี้

"การเพิ่มขีดความสามารถให้กับเมืองรองของไทยจะเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ครั้งสําคัญ เพื่อให้เมืองเหล่านี้มีอํานาจ ความยืดหยุ่น ทรัพยากรทางการเงิน และโครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็นในการดึงดูดการลงทุนตลอดจนผู้ที่มีความรู้ความสามารถและทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาเมือง" รศ. ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ กล่าว "ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทุนมนุษย์ และการเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันที่เหมาะสม รวมถึงการปรับเปลี่ยนกรอบการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและระหว่างรัฐบาลส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น จะทำให้เมืองเหล่านี้มีศักยภาพในการเพิ่มผลิตภาพของไทยอย่างมีนัยสําคัญ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับโลก"

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่: 2025/004/EAP

รายชื่อผู้ติดต่อ

กรุงเทพฯ:
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
08-1846-1246

บล็อก

    loader image

เรื่องราวใหม่ๆ

    loader image