25 มีนาคม 2567 ณ กรุงเทพฯ – ธนาคารโลกได้เปิดตัว รายงานการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ ฉบับปี 2567 (Systemic Country Diagnostic Update: SCD Update) สำหรับประเทศไทย โดยในรายงาน ยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ: ก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองของคนทุกกลุ่ม (Shifting Gears: Toward Sustainable Growth and Inclusive Prosperity) จะมีบทวิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาประเทศแบบรอบด้าน เพื่อเร่งลดปัญหาความยากจนและกระจายความเจริญอย่างทั่วถึงในรูปแบบที่ยั่งยืน รายงานดังกล่าวมุ่งเน้นที่การปรับปรุง 5 ประเด็นสำคัญ กล่าวคือ
- การเสริมสร้างความมั่นคงด้านทุนมนุษย์
- การสร้างสรรค์เศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน
- การปลดล็อกการเติบโตในเมืองรอง
- การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันการเงินและการคลังของรัฐ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสภาวะตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์,ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เพิ่มแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และประชากรของประเทศไทย แม้ในปี 2565 และ 2566 การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้น แต่การฟื้นตัวของไทยก็ยังตามหลังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สาเหตุหลักเป็นเพราะไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนที่ลดลง, การเติบโตของผลิตภาพที่ลดลง และภาวะประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอีกด้วย
“ประเทศไทยเคยเติบโตไปพร้อมกับลดปัญหาความยากจนได้อย่างน่าทึ่งมาตลอดหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานการดำรงชีพของประชากรได้อย่างมาก” ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน, ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “ในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าการเติบโตของประเทศไทยอยู่ในภาวะถดถอยมาเป็นเวลานาน ดังนั้น การปฏิรูปตามที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ (SCD Update) จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตแบบรอบด้านได้อย่างยั่งยืน การปฏิรูปดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งต่อการผลักดันประเทศไทยให้ขยับสถานะขึ้นเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ ด้วยคุณลักษณะของเศรษฐกิจที่มีความเท่าเทียมทางสังคมมากขึ้น ยั่งยืนยิ่งขึ้น และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”
รายงานการวิเคราะห์มีข้อเน้นย้ำว่า การที่ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและมีความเจริญอย่างทั่วถึงมากขึ้นนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงผลลัพธ์การเรียนรู้และลดช่องว่างด้านทักษะ ผ่านการเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษา ควบคู่ไปกับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการปรับรูปแบบการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี, เสริมสร้างกฎระเบียบในการแข่งขัน, ดึงดูดนักวิชาชีพที่มีทักษะ และส่งเสริมบทบาทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนสนับสนุนนวัตกรรม
นอกจากนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน พร้อมกับการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีความก้าวหน้าไปพร้อมกับการรักษาความอุดมสมบูรณ์ทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การป้องกันและบรรเทาการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง, การปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการกำหนดเป้าหมายสำคัญในการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อความยั่งยืน
การที่ไทยจะสามารถบรรลุผลได้ตามเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของสถาบันต่าง ๆ อย่างเข้มแข็งเพื่อเอื้ออำนวยให้ไทยสามารถจัดการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ นอกจากนี้ การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ประกอบกับวางระบบการดำเนินงานของรัฐบาลส่วนกลางกับท้องถิ่นที่ดีก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระดับภูมิภาคได้เช่นกัน
“การพัฒนาทั้ง 5 ประเด็นที่สำคัญจะต้องบูรณาการร่วมกับการพัฒนาทุนมนุษย์และการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านนวัตกรรม,การเพิ่มผลิตภาพ และการพัฒนาผู้ประกอบการ การดึงดูดการลงทุน, การพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างต่อเนื่องจะเป็นการปลดล็อกศักยภาพในการเติบโตและการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน” ดร. เอ๊กก้าเทอรีนา วาชาคามมาเดอเช่ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและหัวหน้าคณะผู้เขียนรายงาน กล่าว
การจัดทำการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ สำหรับประเทศไทย (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2567 ได้ผ่านการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐและตัวแทนของภาคเอกชน, องค์กรเครือข่ายเพื่อการพัฒนา, องค์กรภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา ซึ่งรายงานการวิเคราะห์แนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ ฉบับก่อนหน้าซึ่งตีพิมพ์และเผยแพร่ในปี 2559 กลับสู่เส้นทาง: ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและความท้าทายที่เกี่ยวข้อง ส่วนฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2567 จะเป็นการต่อยอดจากรากฐานเดิมและมุ่งแก้ไขปัญหาตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบอย่างเฉียบคมมากขึ้น รายงานฉบับนี้ยังประกอบด้วยประเด็นการพัฒนาในด้านใหม่ ๆ ที่สำคัญ เพื่อใช้ในกรอบความร่วมมือระดับประเทศระหว่างไทยและกลุ่มธนาคารโลก (Thailand and the World Bank Group Country Partnership Framework) ประจำปีงบประมาณ 2568-2572 อีกด้วย