Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

การสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้นในประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่ทักษะ การศึกษา และการพัฒนาในระดับภูมิภาค

ความคืบหน้าในการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ชะลอตัวลง

กรุงเทพฯ 29 พฤศจิกายน 2566 – ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานในวันนี้ ระบุว่า ประเทศไทยสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในระดับที่ค่อนข้างสูงด้วยการเพิ่มทักษะของแรงงาน ปรับปรุงการศึกษาให้เน้นความสามารถด้านดิจิทัล เพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

รายงาน “ปิดช่องว่าง: ความเหลื่อมล้ำและงานในประเทศไทย” พบว่านับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดช่องว่างระหว่างคนที่ร่ำรวยที่สุดและยากจนที่สุดเป็นอย่างมาก แต่ความคืบหน้าดังกล่าวได้ชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 2558 ในปี 2564 ประเทศไทยมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ของรายได้ ซึ่งเป็นหน่วยวัดมาตรฐานของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ อยู่ที่ร้อยละ 43.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของความไม่เสมอภาคของรายได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก การกระจุกตัวของรายได้ในครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดนั้นสูงเป็นพิเศษ โดยในปี 2564 ร้อยละ 10 ของคนไทยที่ร่ำรวยที่สุดถือครองรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ

ความแตกต่างในด้านโอกาสทางการศึกษาและทักษะ รายได้ของเกษตรกรต่ำ ประชากรสูงวัย และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความท้าทายในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย แม้ว่าผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะค่อนข้างน้อย แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ช่องว่างของผลลัพธ์การเรียนรู้และปัญหาหนี้สินในครัวเรือนที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของประเทศไทยเป็นปัจจัยที่ทำให้ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น

“จากรายงานฉบับนี้ เราพบว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย จากโอกาสในการพัฒนามนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมกัน และจะคงอยู่ตลอดวงจรชีวิตและสืบทอดถึงรุ่นต่อๆ ไป” คุณฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “นโยบายเป็นสิ่งจำเป็นในระยะสั้นเพื่อจัดการกับการสูญเสียการเรียนรู้และราคาของสินค้าจำเป็นที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ช่องว่างทุนมนุษย์ยิ่งกว้างขึ้น เราจำเป็นต้องมั่นใจว่านโยบายที่กำหนดขึ้นมาสามารถให้การสนับสนุนกลุ่มเปราะบางได้อย่างเพียงพอเพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อและเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น”

ความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างภูมิภาคและระหว่างชุมชนภายในภูมิภาคมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำโดยรวมในประเทศไทย ในปี 2563 รายได้เฉลี่ยในกรุงเทพฯ ซึ่งมี GDP ต่อหัวสูงที่สุดของประเทศนั้น มากกว่า 6.5 เท่าของรายได้เฉลี่ยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมี GDP ต่อหัวต่ำที่สุด การกระจุกตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ได้ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในระดับภูมิภาคของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาในระดับภูมิภาคให้เกิดความสมดุล

ช่องว่างทางการศึกษาและความแตกต่างทางอาชีพเป็นสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย การเข้าเรียนสูงเกือบจะเท่ามาตฐานสากลในระดับปฐมศึกษา แต่กลับตกลงในระดับช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยประมาณร้อยละ 8 ของเด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 15 - 17 ปี ไม่ได้ไปโรงเรียน ในขณะที่กลุ่มเด็กผู้ชายตัวเลขดังกล่าว พุ่งสูงถึงร้อยละ 17

อุปสรรคของการเรียนทางไกลในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นกับนักเรียนในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย คาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ช่องว่างการเรียนรู้กว้างขึ้น ความแตกต่างระหว่างจำนวนปีของการศึกษากับจำนวนปีของการศึกษาที่ปรับด้วยคุณภาพการเรียนรู้ (learning adjusted years) เพิ่มขึ้นจาก 3.7 ปี เป็น 4 ปี ส่งผลให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้วนั้นยิ่งต่ำลงกว่าเดิม โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ด้วยเหตุนี้ ดัชนีทุนมนุษย์ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของธนาคารโลกที่วัดการมีส่วนร่วมด้านสุขภาพและการศึกษาต่อประสิทธิภาพการผลิตของบุคคลและประเทศต่างๆ คาดว่าตัวเลขของประเทศไทยจะลดลงจาก 0.61 ในปี 2563 เหลือ 0.55 ในปี 2565

สถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดช่องว่างความมั่งคั่ง อัตราโดยรวมของครัวเรือนที่เป็นหนี้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45.2 เป็นร้อยละ 51.5 ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 เนื่องจากการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้

“ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากวิกฤตที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปที่จำเป็น และสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันและครอบคลุมมากขึ้น” นาเดีย เบลฮัจ ฮัสซีน เบลกิธ นักเศรษฐศาสตร์ด้านความยากจนของธนาคารโลก ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมการศึกษารายงานฉบับนี้กล่าว “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยจำเป็นต้องสนับสนุนโรงเรียนในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนและจัดให้มีโปรแกรมการฟื้นฟูการเรียนรู้ การเสริมสร้างโปรแกรมการคุ้มครองทางสังคมและการให้ความช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า จะช่วยเพิ่มความศักยภาพของการให้ความช่วยเหลือที่มีอยู่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครัวเรือนที่ยากจน”

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่: 2024/021/EAP

บล็อก

    loader image

เรื่องราวใหม่ๆ

    loader image