การรับมือกับความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้ง เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน
28 มิถุนายน 2566 กรุงเทพฯ – รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับนี้ของธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตสูงขึ้นที่ร้อยละ 3.9 ในปี 2566 เพิ่มจากร้อยละ 2.6 ในปีที่แล้ว เนื่องจากอุปสงค์จากจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีความแข็งแกร่งเกินกว่าที่คาดไว้ รวมถึงการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
รายงานคาดการณ์ว่าการเติบโตในปี 2567 จะอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.4 ในปี 2568 โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศลดลง อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะลดลงในปี 2566 เหลือร้อยละ 2 ท่ามกลางราคาและเพดานราคาพลังงานที่ผ่อนคลายมากขึ้นทั่วโลก แม้ว่าราคาอาหารและพลังงานจะไม่ผันผวนแล้ว แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 การกลับมาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนทำให้แนวโน้มการท่องเที่ยวแข็งแกร่งขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะสูงถึง 28.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 84 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 และคาดว่ากลับมาเท่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนการเกิดการระบาดของโควิด-19 ภายในครึ่งปีหลังของปี 2567
แม้จะมีการเติบโตที่ดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกอ่อนแอกว่าที่คาดบวกกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเผชิญกับอุปสรรคเชิงโครงสร้าง เช่น ภาวะประชากรสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่สูง
ส่วนหนึ่งของรายงานกล่าวถึง การรับมือกับอุทภภัยและภัยแล้ง โดยนำเสนอข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยในการปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ออุทกภัยและภัยแล้งอย่างมาก เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ และจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานที่เข้มแข็งแกร่งกว่าเดิมเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยและภัยแล้งซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง
"ความถี่ของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงทุนมนุษย์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำ มีความสำคัญต่อประเทศไทย" ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานที่แข็งแกร่งกว่าเดิมในการจัดลำดับความสำคัญของการวางแผนลดความเสี่ยง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำ และการจัดการการใช้ที่ดินและน้ำ”
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่อันดับที่ 9 ของโลกในการจัดอันดับ INFORM Risk Index ซึ่งเป็นดัชนีเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านอุทกภัย รองจากเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ค่าใช้จ่ายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว หากไม่มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก หากในปี 2573 เกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2554 อีก อาจทำให้สูญเสียการผลิตมากกว่าร้อยละ 10 ของจีดีพี ภาคการเกษตรซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 9 ของจีดีพี มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตข้าวที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่และคิดเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของจีดีพี ก็มีความเสี่ยงสูงต่ออุทกภัยเช่นกัน
รายงานยังระบุว่าการรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งมีความคืบมากขึ้น และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2560 ได้สนับสนุนการวางแผนและดำเนินการตามมาตรการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งมากขึ้น นอกจากนี้ รายงานยังแนะนำว่า การปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงานควรดำเนินการควบคู่ไปกับการประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ในการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งที่เหมาะสม ความคืบหน้าล่าสุดในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำ การส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และการบูรณาการแนวทางแก้ไขด้วยวิธีธรรมชาติสามารถมีส่วนช่วยในการยกระดับความสามารถในการรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งได้มากยิ่งขึ้น