วอชิงตัน 19 เมษายน 2566 – คณะกรรมการผู้ว่าการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และกลุ่มธนาคารโลกมีมติให้จัดการประชุมประจำปีของทั้ง 2 สถาบัน พ.ศ. 2569 ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยมีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2569 โดยทั้ง 2 สถาบัน มีจัดการประชุมประจำปีในกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2534
การประชุมประจำปีฯ นั้นจะมีผู้แทนเข้าร่วมการประชุมจากธนาคารกลาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและการพัฒนาต่างๆ ภาคเอกชนชั้นนำ ภาคประชาสังคม สื่อ และนักวิชาการ เพื่อหารือเกี่ยวกับความท้าทายสำคัญและเร่งด่วนที่เป็นปัญหาสำหรับเศรษฐกิจโลก รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพการเงินของโลก การขจัดความยากจน การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วมและการสร้างงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาด้านดิจิทัล เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้ว การประชุมประจำปีจะจัดขึ้นสองปีติดต่อกันที่สำนักงานใหญ่ของไอเอ็มเอฟและกลุ่มธนาคารโลก และในทุก ๆ ปีที่สามจะจัดขึ้นในประเทศสมาชิกของทั้ง 2 สถาบัน โดยการประชุมประจำปี 2566 นี้ จะจัดขึ้นที่ประเทศโมร็อกโกในเดือนตุลาคม โดยในการประชุมดังกล่าวจะมีพิธีลงนามอย่างเป็นทางการสำหรับการประชุมประจำปี 2569 ในประเทศไทย ทั้งนี้ รายชื่อสถานที่จัดการประชุมทั้งหมดที่ผ่านมาสามารถดูได้จากเว็บไซต์การประชุมประจำปี
เกี่ยวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีสมาชิก 190 ประเทศ มีเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ รักษาเสถียรภาพทางการเงิน อำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการให้คำแนะนำเชิงนโยบาย การให้กู้ยืมเงิน และสร้างขีดความสามารถในด้านต่างๆ ให้กับประเทศสมาชิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2488 และปัจจุบันเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประเทศสมาชิก 190 ประเทศทั่วโลก
เกี่ยวกับกลุ่มธนาคารโลก
กลุ่มธนาคารโลกเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญระดับโลกในการยุติความยากจนขั้นรุนแรงและส่งเสริมการกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง กลุ่มธนาคารโลกประกอบด้วย 5 สถาบันด้วยกัน อาทิ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการฟื้นฟูบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) และสมาพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Association: IDA) บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) หน่วยงานประกันการลงทุนพหุภาคี (Multilateral Investment Guarantee Agency: MIGA) และศูนย์กลางระหว่างประเทศเพื่อยุติข้อขัดแย้งด้านการลงทุน(International Centre for Settlement of Investment Disputes: ICSID) โดยสถาบันเหล่านี้ทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ เพื่อช่วยเหลือทางการเงิน ให้คำแนะนำและแนวทางแก้ปัญหาให้ประเทศต่างๆ สามารถรับมือกับประเด็นท้าทายเร่งด่วนการพัฒนาได้
_____________________________________
ติดต่อ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
Pierre Mejlak
Tel: +1(202)623-7100
media@imf.org
กลุ่มธนาคารโลก
David Theis
Tel : +1 (202) 458-8626
ลิงค์