Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเร่งตัวขึ้นจากการฟื้นตัวของจีน

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และสภาวะทางการเงินที่ตึงตัว ในปี 2566

วอชิงตัน 30 มีนาคม 2566 – การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในปี 2566 เนื่องจากการกลับมาเปิดประเทศของจีน ในขณะที่อัตราการขยายตัวของประเทศส่วนใหญ่ที่เหลือในภูมิภาคคาดว่าจะชะลอตัวลงหลังจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีที่ผ่านมา ตามรายงานของธนาคารโลกที่แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี

เศรษฐกิจทั่วภูมิภาคแม้ว่าจะแข็งแกร่ง แต่อาจมีข้อจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น และสภาวะทางการเงินที่ตึงตัวเพื่อตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานอัพเดทเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เมษายน 2566 ของธนาคารโลก

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น 5.1% ในปี 2566 จาก 3.5% ในปี 2565 เนื่องจากการกลับมาเปิดประเทศของจีน ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 5.1% จาก 3% ในปีที่ผ่านมาการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคไม่รวมประเทศจีนคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลาง ถึง 4.9% จากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ 5.8% ในปี 2565 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในบางประเทศได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภค

มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า “แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้ผ่านความยากลำบากจากสถานการณ์โรคระบาด แต่ตอนนี้ต้องมารับมือกับภูมิทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ จึงยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมนวัตกรรม เพิ่มผลิตภาพ และวางรากฐานสำหรับการฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคส่วนใหญ่ รวมถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับปานกลางในปี 2566 เนื่องจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2565 สำหรับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2566 ยกเว้นกรณีของฟิจิที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับปานกลาง

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีการเติบโตที่สูงกว่า และมีเสถียรภาพมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอื่น ส่งผลให้ความยากจนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับกรณีของความเหลื่อมล้ำที่ลดลงในทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการเพิ่มระดับรายได้ต่อหัวให้ทันประเทศเศรษฐกิจหลักได้ชะงักลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเติบโตของผลิตภาพและการปฏิรูปโครงสร้างได้ชะลอตัวลง ดังนั้นการจัดการกับ “ช่องว่างการปฏิรูป” ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ จะสามารถขยายผลกระทบของการปฏิวัติดิจิทัลและเพิ่มประสิทธิภาพในภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ด้านค้าปลีกและการเงิน ไปจนถึงด้านการศึกษาและสุขภาพ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังต้องรับมือกับความท้าทายที่สำคัญ 3 ประการ ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเร่งดำเนินการเพื่อรักษาและเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากผลของโควิด-19 ได้แก่ สถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน และเทคโนโลยีที่มีการแลกเปลี่ยนกันในภูมิภาค การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วของประเทศหลัก ๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดความท้าทายและความเสี่ยงชุดใหม่ที่มีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดุลการคลัง และด้านสุขภาพ และประการสุดท้าย ภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงเป็นพิเศษจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความหนาแน่นของประชากร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวชายฝั่ง

อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า “การทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ (De-globalization) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เดิมให้ความสำคัญกับด้านการค้า แม้ผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการค้า การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประชากร และการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่: 2023/056/EAP

รายชื่อผู้ติดต่อ

ในวอชิงตัน:
Kym Smithies
+1(202) 458-0152
Mark Felsenthal
+1(202) 602-9673

บล็อก

    loader image

เรื่องราวใหม่ๆ

    loader image