กรุงเทพฯ 29 มิถุนายน 2565 – เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบภายนอกด้านลบจากสงครามในยูเครนและมาตรการปิดเมืองของจีนแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีลักษณะเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน และมีความเปราะบางต่อภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ดังนั้น การนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จะสามารถช่วยสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นต่อผลกระทบภายนอกได้ตามรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยที่เผยแพร่ในวันนี้
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจะได้รับแรงกระตุ้น และกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงและการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.0 ล้านคนในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 0.4 ล้านคนในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 60 ของระดับก่อนการระบาดภายในปี 2567 ด้วยเหตุนี้ จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.3 และ 3.9 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 14 ปี ตลอดปี 2565 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.3 การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 ในปี 2565 ชะลอตัวลงจากผลของปี 2564 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ที่ร้อยละ 18.8 สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์โลกที่ลดลงและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยืดเยื้อ
“ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระยะของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (fiscal consolidation) และการปรับสมดุลรายจ่ายเพื่อเพิ่มการลงทุนภาครัฐ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลกกล่าว
รายงานระบุว่า สงครามในยูเครนอาจทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น อันเป็นผลจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น ธนาคารโลกประมาณการว่า ราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 1.4 จุดร้อยละ และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 0.2 จุดร้อยละ
แบบจำลองทางเศรษฐกิจชี้ให้เห็นว่า การเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถเพิ่มผลผลิตและการจ้างงาน โดยจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.2 และช่วยให้เกิดการจ้างงานประมาณ 160,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2573 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของการจ้างงานทั้งหมด นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยป้องกันประเทศไทยจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงและมีความผันผวน รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณร้อยละ 5 ภายในปี 2573
“เนื่องจากความต้องการทรัพยากรภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยสามารถเลือกใช้แนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่จะลดการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก” ไฆเม ฟรีอัส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกกล่าว “การตอบสนองอย่างพร้อมเพรียงทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปที่ตรงเป้าหมาย จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการปลดล็อคศักยภาพของประเทศไทยในด้านดังกล่าว”
รายงานฉบับนี้ได้เสนอแนะการดำเนินการหลายประการ เพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย อาทิ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหามลพิษ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ การเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันต่าง ๆ และความร่วมมือทั้งระหว่างหน่วยงานและภายในหน่วยงานก็เป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการจัดทำกรอบการสนับสนุนการแบ่งปันความรู้ นวัตกรรม และการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจนำรูปแบบธุรกิจหมุนเวียนมาใช้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีการผนวกเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ากับระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การพัฒนาแผนกลยุทธ์รายภาคส่วน การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการสร้างแผนการสนับสนุนธุรกิจ