Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิกฤตโควิด-19 ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย คนจนต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

กรุงเทพฯ 15 กรกฎาคม 2564 – เศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงถูกกระหน่ำอย่างหนักต่อไปอีกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.2 ในปีพ.ศ. 2564 ซึ่งปรับลดลงจากร้อยละ 3.4 ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมีนาคม จาก รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย “เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ฉบับล่าสุดของธนาคารโลกที่เผยแพร่ในวันนี้ การให้ความช่วยเหลือคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงแรงงานนอกระบบ ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไปเนื่องจากโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

อนาคตที่ดูซึมลงเป็นผลมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสามที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ที่มีต่อการบริโภคภาคเอกชน และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามามีจำนวนที่ต่ำมากจนถึงสิ้นปีพ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีสถิติจำนวนการเข้ามาของนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนในปีพ.ศ. 2562 แต่จำนวนที่คาดการณ์สำหรับปีพ.ศ. 2564 ถูกปรับลดลงอย่างมากจาก 4 - 5 ล้านคนเหลือเพียง 6 แสนคนเท่านั้น

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจน แต่การรับมือด้วยมาตรการความคุ้มครองทางสังคมที่ครบถ้วนของรัฐบาลส่งผลเป็นที่น่าพอใจในการบรรเทาผลกระทบ” เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “พื้นที่การคลังของประเทศไทยยังคงมีเพียงพอสำหรับการดำเนินมาตรการช่วยเหลือคนยากจนและผู้ที่ลำบากมากที่สุดในช่วงเวลาหลายเดือนข้างหน้า”

ประเทศไทยมีการดำเนินการที่ค่อนข้างดีในแง่ของระดับและความรวดเร็วในการรับมือด้านการคลัง รัฐบาลได้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนจากเดิมที่อยู่ในระดับไม่มากนักมาเป็นชุดของมาตรการให้เงินเยียวยาในระดับแถวหน้าของโลกเพื่อการรับมือกับโควิด-19 การจำลองสถานการณ์เบื้องต้นบ่งบอกว่าจะมีคนจนเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 780,000 คนในปีพ.ศ. 2563 หากรัฐบาลไม่ได้เพิ่มความช่วยเหลือทางสังคม

“วิกฤตในปีพ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นถึงความสามารถของประเทศไทยในการใช้งานระบบเลขประจำตัวประชาชนดิจิทัลที่เข้มแข็งและครอบคลุม ระบบดิจิทัลที่รองรับการใช้งานได้ดีและทำงานข้ามแพล็ตฟอร์มได้ และฐานข้อมูลเพื่อการบริหารงานภาครัฐจำนวนมากในการคัดกรองผู้มีคุณสมบัติสำหรับมาตรการให้เงินเยียวยาที่ออกมาใหม่ ก้าวต่อไปของประเทศไทยจะต้องอาศัยการผนึกกำลังความพยายามต่างๆ เหล่านี้และการเตรียมพร้อมให้ดียิ่งขึ้นไปอีกเพื่อรับมือกับวิกฤต โดยการจัดตั้งระบบการลงทะเบียนทางสังคม”  ฟรานเชสกา ลามานนา  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก กล่าว

กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่าจะไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปจนกระทั่งปีพ.ศ. 2565 โดยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.1 อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการดำเนินการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ประสิทธิผลของมาตรการสนับสนุนทางการคลัง และระดับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้าคาดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปีพ.ศ. 2564 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกสำหรับชิ้นส่วนยานยนตร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และผลิตผลทางการเกษตร ความเสี่ยงในด้านลบมีค่อนข้างมากเนื่องจากการฟื้นตัวอาจต้องล่าช้าออกไปเพราะมีโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้การรักษาและวัคซีนที่มีอยู่ไม่เป็นผล

“มาตรการตรวจเชื้อ-สืบย้อน-กักตัวที่เหมาะสมและการดำเนินการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงจะมีความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการล็อคดาวน์ กระตุ้นการเพิ่มการเคลื่อนย้ายและการบริโภคภายในประเทศให้ต่อเนื่อง และเพื่อให้ประเทศสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้” เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก กล่าว “ในระยะยาว การปฏิรูปเพื่อลดต้นทุนและอุปสรรคการค้าจะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก”

รายงานฉบับนี้ยังเสนอด้วยว่ารัฐบาลควรต้องลงทุนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศ สิ่งสำคัญอันดับแรกในอนาคตอันใกล้คือการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยดูแลให้มีการให้ความช่วยเหลือตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผลเพื่อจำกัดภาระทางการคลังโดยรวม นอกจากนี้วิกฤตครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีระบบให้ความคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมภาคการทำงานนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ตลอดเวลาด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่ในช่วงวิกฤตเท่านั้น


รายชื่อผู้ติดต่อ

ในกรุงเทพฯ
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
+662-686-8385
kanitha@worldbank.org
Api
Api