วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ณ วอชิงตัน - รายงานของธนาคารโลกฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวันนี้ระบุว่า นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการเติบโตของผลผลิตและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ต่างเติบโตได้อย่างยั่งยืนและลดความยากจนได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ แต่การเติบโตของผลผลิตที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนในการค้าโลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดความจำเป็นในการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไปสู่รูปแบบใหม่ที่ดีกว่าเพื่อรักษาศักยภาพทางเศรษฐกิจ
เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถรับมือกับปัญหานี้ รายงานของธนาคารโลกชื่อ The Innovation Imperative for Developing East Asia (นวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่กำลังพัฒนา ) ได้ตรวจสอบสถานะของนวัตกรรมในภูมิภาค วิเคราะห์ข้อจำกัดสำคัญที่บริษัทต้องเผชิญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และกำหนดวาระในการดำเนินการที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต
“หลักฐานจำนวนมากเชื่อมโยงนวัตกรรมเข้ากับผลผลิตที่สูงขึ้น” Victoria Kwakwa รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสภาพแวดล้อมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลในภูมิภาคต้องส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมผ่านนโยบายที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
แม้ว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออก จะเป็นแหล่งรวมนวัตกรที่มีชื่อเสียงหลายคน ข้อมูลที่นำเสนอในรายงานแสดงให้เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค (ยกเว้นจีน) สร้างสรรค์นวัตกรรมได้น้อยกว่าที่คาดไว้ตามระดับรายได้เฉลี่ยต่อบุคคล โดยบริษัทส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจโดยขาดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในด้านการใช้เทคโนโลยีใหม่ ภูมิภาคนี้พัฒนาได้ล่าช้ากว่า
"นอกเหนือจากตัวอย่างที่น่าสนใจแล้ว ปัจจุบันพบว่าบริษัทส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่กำลังพัฒนายังไม่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่” Xavier Cirera นักวิจัยหลักของรายงานฉบับนี้ กล่าว “ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีโมเดลของนวัตกรรมในภาพกว้างที่จะสามารถช่วยสนับสนุนบริษัทจำนวนมากในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ และช่วยให้บริษัทที่มีความซับซ้อนมากขึ้นสามารถริเริ่มโครงการที่ล้ำสมัยได้”
รายงานระบุปัจจัยหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมในภูมิภาค อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เพียงพอ ผลตอบแทนจากโครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ไม่แน่นอน ความสามารถของบริษัทที่ต่ำ ทักษะของพนักงานที่ไม่เพียงพอ และตัวเลือกการจัดหาเงินทุนที่จำกัด ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายและสถาบันด้านนวัตกรรมของประเทศต่างๆ มักไม่สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการของบริษัท
เพื่อกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม รายงานระบุว่าประเทศต่างๆ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในสังคมไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์เทคโนโลยีเท่านั้น รวมถึงสนับสนุนนวัตกรรมในภาคบริการ ไม่ใช่แค่ภาคการผลิต และเสริมสร้างความสามารถด้านนวัตกรรมของบริษัท การมองนโยบายด้านนวัตกรรมในมุมที่กว้างขึ้นนั้นมีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตในกลุ่มบริษัทต่างๆ ในภูมิภาค
“รัฐบาลในภูมิภาคต้องให้ความสำคัญในการสนับสนุนนวัตกรรมด้านการบริการ เนื่องจากมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ไม่เพียงแต่เพื่อคุณภาพการบริการที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตมากขึ้นด้วย” Andrew Mason นักวิจัยหลักของรายงานอีกท่านหนึ่งกล่าว
นอกจากนี้ประเทศต่างๆ ยังต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยเสริมที่จะช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งรวมถึง การพัฒนาทักษะของพนักงานและเครื่องมือสำหรับการหาเงินทุนให้โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรม ในขณะเดียวกันการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างสถาบันวิจัยระดับชาติและบริษัทต่างๆจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ภูมิภาคนี้เติบโตได้ด้วยนวัตกรรม
สามารถดาวน์โหลดรายงานThe Innovation Imperative for Developing East Asia ได้ที่นี่
หมายเหตุ: คำว่า “เอเชียตะวันออกที่กำลังพัฒนา” หมายถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 10 ประเทศที่ระบุไว้ในการศึกษานี้ ได้แก่ กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม