Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563

การเพิ่มผลิตภาพในภาคการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

กรุงเทพฯ 21 ธันวาคม 2563 – ธนาคารโลกเผยผลวิจัยที่พัฒนาร่วมกับกรมนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ชื่อ “ผลิตภาพการผลิตขององค์กรในประเทศไทย (Thailand Manufacturing Firm Productivity)” ชี้การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในภาคการผลิตจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตและแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

หากประเทศไทยต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยการเปลี่ยนจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ภายในปี 2580 และฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มผลิตภาพการผลิตในกลุ่มองค์กรในภาคการผลิตโดยจะต้องรักษาอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยในระยะยาวให้ได้มากกว่าร้อยละ 5 ไปจนถึงปี 2568 และเพื่อให้การเติบโตเป็นไปตามเป้านี้ จำเป็นที่จะต้องเพิ่มการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนเกือบสองเท่าของการลงทุนในปัจจุบันให้ถึงร้อยละ 40 ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity) ซึ่งคล้ายกับกรณีของประเทศเกาหลีใต้ที่ต้องรักษาการเติบโตในอัตรานี้ในช่วงที่มีค่า GDP ต่อหัวเท่ากับของประเทศไทยในปัจจุบัน

“ในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพในประเทศใดก็ตาม ต้องเน้นที่การเพิ่มผลผลิตต่อคน หรือการผลิตสินค้าและบริการให้ได้มากขึ้นตามจำนวนชั่วโมงการทำงานที่กำหนดให้ได้เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งการปฏิรูปโครงสร้างผ่านการส่งเสริมการย้ายแรงงานจากภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำ เช่น ภาคเกษตรกรรม ไปยังภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพสูง เช่น ภาคการผลิต” เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “นอกจากนี้ การเพิ่มผลิตภาพขององค์กรที่อยู่ในภาคการผลิตจะช่วยสร้างงานและทำให้ประเทศเติบโตแบบมีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะในระยะฟื้นตัวหลังโควิด-19”

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผลิตภาพการผลิตของประเทศไทยเติบโตในเกณฑ์ต่ำ ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในภาวะถดถอย การเติบโตของเศรษฐกิจจากระดับเฉลี่ยร้อยละ 4.8  ในปี 2535 – 2551 ลดลงเป็นร้อยละ 3.3 ในปี 2551-2561  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ปัญหาด้านผลิตภาพการผลิตของประเทศทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 6-7 ซึ่งมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบในระยะที่ยาวนานขึ้น รวมถึงผลิตภาพที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

หลังจากวิกฤตการเงินโลก (ปี 2552-2561) ผลิตภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2541-2551 เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ ผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากมูลค่าเพิ่มต่อคน เติบโตในอัตราเฉลี่ยเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2551-2561 เทียบกับกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2541-2551

“การเพิ่มผลิตภาพจะเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างในระยะยาวของประเทศไทย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ ผลิตภาพ ที่จะต้องมุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น  เปิดกว้างต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)มากขึ้น และส่งเสริมระบบนิเวศน์ให้กับองค์กรในการสรรค์สร้างนวัตกรรม” เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลก กล่าวเพิ่มเติม

รายงานฉบับนี้ยังได้วิเคราะห์ถึงประเภทขององค์กรที่มีผลิตภาพดีและข้อจำกัดที่มีผลต่อผลิตภาพดังต่อไปนี้ (i) บริษัทฯผู้ผลิตที่ทำการส่งออกมากขึ้นจะมีการเติบโตด้านผลิตภาพที่สูงขึ้น (ii) อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดภายในประเทศมีการแข่งขันน้อยลง ทำให้องค์กรที่มีผลิตภาพดีเข้ามาเล่นอยู่ในตลาดน้อยลงและองค์กรที่ไม่มีผลิตภาพก็ออกไปจากตลาดน้อยลงด้วย จึงทำให้ผลิตภาพโดยรวมนั้นตกต่ำลง (iii) องค์กรที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง (FDI) จะมีผลิตภาพที่ดีกว่า (iv) มีองค์กรขนาดเล็กจำนวนมากที่มีผลิตภาพดีแต่ไม่เติบโตในขนาด และ (v) ทักษะ รวมถึง การวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นสิ่งที่สำคัญต่อผลิตภาพขององค์กร

ทั้งนี้ รายงานได้นำเสนอข้อเสนอแนะด้านนโยบาย ซึ่งรวมไปถึง การบังคับใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่โดยมีนโยบายเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจกำกับไว้อย่างชัดเจน การควบคุมราคาและพฤติกรรมการผูกขาดทางการค้า การส่งเสริมให้การลงทุนเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อช่วยดึงดูดการลงทุนและการสร้างองค์กรใหม่โดยการผ่อนคลายขอบเขตการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ยกเลิกข้อจำกัดในการให้บริการ และเสริมสร้างการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ควรมุ่งเน้นเพิ่มทักษะให้มากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจฐานความรู้เชิงนวัตกรรม (innovative knowledge-based economy).


รายชื่อผู้ติดต่อ

กรุงเทพฯ
ปณิธิดา ผ่องแผ้ว
02-686-8385
081-812-9381
panithida@worldbankgroup.org
Api
Api