กรุงเทพ 31 สิงหาคม 2563 – ประเทศไทยลงนามข้อตกลงกับธนาคารโลกเพื่อรับเงินสนับสนุนจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐวันนี้เพื่อสนับสนุนการลดการนำเข้าและการใช้สารเคมีที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนภายในปี 2566 ให้ได้มากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกรณีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศที่นำเข้าและบริโภคสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC) มากที่สุดในโลก ในปี 2555 ก่อนที่พันธกรณีพิธีสารมอนทรีออลเริ่มจะมีผลบังคับใช้กับประเทศภาคีที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ประเทศไทยนำเข้าสารดังกล่าวมากกว่า 18,000 เมตริกตัน หนึ่งในงานที่สำคัญของรัฐบาลคือการแนะนำวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทยซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของพิธีสารมอนทรีออลในการเปลี่ยนการใช้และการผลิตโดยใช้สารที่มีอันตรายเหล่านี้
เงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์โอโซนของธนาคารโลกได้รับเงินมาจากกองทุนร่วมพหุภาคีเพื่อการดำเนินการภายใต้พิธีสารมอนทรีออลซึ่งสนับสนุนโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566
“ความสำเร็จของโครงการในระยะที่หนึ่งได้ช่วยให้ภาคการผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยหยุดการใช้สาร HCFC แล้ว” นาย วิรัช วิฑูรย์เธียร-ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคารโลก กล่าว “ระยะที่สองนี้จะมุ่งเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) เพื่อที่จะผลิตฉนวนกันความร้อนที่ไม่มีส่วนประกอบของสาร HCFC ในโฟม”
โครงการนี้จะช่วยช่างแอร์และช่างตู้เย็นบำรุงรักษาและติดตั้งเครื่องและอุปกรณ์ทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศโอโซนอีกด้วยซึ่งสอดคล้องกับวิธีการปฏิบัติที่ดีระดับสากลและเป็นการสนับสนุนการฝึกอบรมทักษะของหน่วยงานของรัฐ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการทำความเย็นทางอ้อมซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากค่าไฟที่ลดลง นอกจากนี้โครงการนี้ยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มการตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าอีกด้วย
การสนับสนุนโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFC ระยะที่ 2 นี้เป็นความร่วมมือทางพันธมิตรระหว่างธนาคารโลกกับรัฐบาลของประเทศไทยและภาคเอกชน นับตั้งแต่ปี 2537 พันธมิตรได้จัดหาเงินทุนสนับสนุนมากกว่า 64 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรมลดการใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนที่ใช้ในตู้เย็น, เครื่องปรับอากาศ, การผลิตโฟม, การผลิตละอองของเหลว และสารดับเพลิง ธนาคารโลกได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนของประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศโอโซน และให้คำปรึกษาทางด้านนโยบายและเทคนิคแก่หน่วยงานของรัฐเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยในการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้
“ความสำเร็จของประเทศไทยในการลดการใช้สาร HCFC นั้นเป็นข้อพิสูจน์ที่มีต่อพันธสัญญาที่จะรับแนวคิดอุตสาหกรรมสีเขียวไปปฏิบัติและเป็นการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ” นาง เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว“ด้วยความเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของเราทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการลดและเลิกใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งมีผลดีเทียบเท่ากับการหลีกเลี่ยงการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 38 ล้านตันซึ่งเทียบเท่ากับการนำเอารถยนต์นั่งส่วนบุคคล 8 ล้านคันออกจากถนน หรือ ปิดโรงงานที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินสิบโรงงาน”