Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เอเชียตะวันออกจำเป็นต้องปรับรูปแบบการพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืน ในการพัฒนาประเทศ ธนาคารโลกกล่าว

กัวลาลัมเปอร์ 10 ธ.ค. 2018 – รายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกกล่าวว่า รูปแบบการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นการผสานกันระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเน้นการส่งออก การพัฒนาทุนมนุษย์ และการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ดี จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งจากภายในและภายนอก

การฟื้นตัวของภูมิภาคเอเชียตะวันออก: ทิศทางของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศในภูมิภาคไม่สามารถรับประกันว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยรูปแบบการพัฒนาที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “มหัศจรรย์แห่งเอเชียตะวันออก” (East Asian Miracle) นั้น ต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป การเติบโตทางการค้าที่ชะลอตัวลง และสถานการณ์ภายในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้การพัฒนาประเทศสามารถเกิดขึ้นต่อไปได้อย่างยั่งยืน

"เอเชียตะวันออกเป็นภูมิภาคที่กำลังพัฒนาซึ่งประสบความสำเร็จมากที่สุดในช่วง 25 ปี ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จีดีพีของภูมิภาคนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าตัว ทำให้คนกว่าพันล้านหลุดพ้นจากความยากจน อย่างไรก็ดี ประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงมีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญในด้านประสิทธิภาพแรงงาน ทุนมนุษย์ และคุณภาพชีวิต เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูง" นางวิคตอเรีย กวากวารองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค กล่าว "งานศึกษาชิ้นนี้คือการตระหนักว่าแนวทางการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมาอาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาจากประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงของประเทศในภูมิภาคนี้"

50 ปี ที่แล้ว หลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน และต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชนะสถานการณ์ความขัดแย้ง หรือการวางแผนจากส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีความคึกคัก ซึ่งสะท้อนถึงการผสานระหว่างเศรษฐกิจของกลุ่มที่มีรายได้ระดับสูงและรายได้ปานกลาง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบหนึ่งในสามของ GDP ทั่วโลก นอกจากนี้ มากกว่าร้อยละ 90 ของประชากรในเอเชียตะวันออกในปัจจุบันอาศัยอยู่ใน10 ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ได้แก่ กัมพูชา จีนอินโดนีเซีย สปป. ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งหลายประเทศมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ช่วงหนึ่งหรือสองชั่วอายุคน

"การผสมผสานของนโยบายที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเน้นการส่งออก และการเติบโตที่พึ่งพาการใช้แรงงานที่เข้มข้น ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งของทุนมนุษย์และการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ดี ได้ทำให้เกิดการเติบที่รวดเร็วและยั่งยืน รวมทั้งเป็นเครื่องมือทำให้ผู้คนหลายร้อยล้านล้านในเอเชียตะวันออกหลุดพ้นจากความยากจน ไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ " นายชูเดียร์ แชตตี้หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว "แต่การพัฒนาในช่วงต่อไปอาจมีความท้าทายสูงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกและภูมิภาค โดยผู้กำหนดนโยบายจะต้องปรับตัวองค์ประกอบของรูปแบบการพัฒนาในเอเชียตะวันออกเพื่อตอบสนองความท้าทายใหม่ ๆ เหล่านี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

รายงานนี้ได้วิเคราะห์ลักษณะของความท้าทายเหล่านี้และแสดงให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในช่วงทศวรรษที่จะถึงนี้ได้อย่างไร โดยรายงานได้ระบุถึงการผสมผสานระหว่างนโยบายแบบเดิมและนโยบายใหม่ ใน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • การส่งเสริมการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและกฎระเบียบอย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญยังรวมถึง การปฏิรูปภาคบริการ การทำข้อตกลงทางการค้าที่ลึกซึ้ง นโยบายด้านนวัตกรรมที่มีความครอบคลุม และการเข้าถึงทุนได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
  • การสร้างทักษะ นอกเหนือจากประเด็นสำคัญในปัจจุบันในด้านของทุนมนุษย์แล้ว การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะขั้นสูง รวมถึงทักษะด้านอารมณ์และสังคม และความรู้เกี่ยวกับระบบดิจิตอล ยังมีความสำคัญมากขึ้นด้วย
  • การส่งเสริมการมีส่วนร่วม นอกเหนือไปจากโครงการช่วยเหลือทางสังคมแบบเดิมแล้ว โครงการที่จะสร้างโอกาสในการทำงานใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มแรงงานที่ด้อยโอกาส และการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีต้นทุนไม่สูงยังเป็นสิ่งจำเป็นด้วย
  • การเสริมสร้างสถาบันของภาครัฐ ประเทศต่าง ๆ จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน การเพิ่มความโปร่งใส และการสามารถตรวจสอบภาครัฐได้มากขึ้น
  • จัดหาเงินทุนเพื่อการเข้าสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง รัฐบาลจะต้องจัดหาเงินทุนสำหรับการดำเนินนโยบายที่ท้าทายเหล่านี้ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงด้วยการเพิ่มการระดมทุนภายในประเทศมากขึ้น

แม้ว่าแนวทางและความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงยังคงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ข้อเท็จจริงคือ การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นและเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การฟื้นตัวของภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีข้อสรุปว่า ผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคจำเป็นต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบขาด เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการรักษาการพัฒนาที่โดดเด่นของเอเชียตะวันออก

ข้อมูลเพิ่มเติม
www.worldbank.org/eap

ติดตามพวกเราได้ที่
@WB_AsiaPacific


รายชื่อผู้ติดต่อ

ในกรุงเทพฯ
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
+662-686-8385
kanitha@worldbank.org
Api
Api