Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ประเทศไทยและกลุ่มธนาคารโลกจัดทำกรอบความร่วมมือในการปฏิรูปประเทศไทยสำหรับระยะต่อไป

27 พฤศจิกายน 2561 กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. - คณะกรรมการบริหารธนาคารโลกได้ให้การรับรองกรอบความร่วมมือระดับประเทศฉบับใหม่สำหรับประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์สำหรับบทบาทของกลุ่มธนาคารโลกที่จะทำงานร่วมกับประเทศไทยในช่วงปี 2562 - 2565 ซึ่งกรอบความร่วมมือนี้จะสนับสนุนการปฏิรูปของประเทศไทยให้พัฒนาเป็นเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาด้านนวัตกรรม เป็นเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีส่วนร่วมและมีความยั่งยืน

กรอบความร่วมมือระดับประเทศนี้เป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือร่วมกันระหว่างองค์กรในเครือของกลุ่มธนาคารโลก อาทิ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) และสถาบันประกันการลงทุนพหุภาคี (The Multilateral Investment Guarantee Agency: MIGA) กับรัฐบาลไทย ทั้งนี้ ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ทั้งในด้านการศึกษา การเกษตร การสื่อสารโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาภาครัฐ และการสาธารณสุข

"ในช่วงเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารโลกได้รับเกียรติอย่างสูงในการเป็นพันธมิตรกับประเทศไทย โดยในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดระดับความยากจน" นางมารา วาร์วิคผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเท ศบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยกล่าว "ความร่วมมือระหว่างเรากับประเทศไทยในช่วงต่อไปนี้จะเน้นความร่วมมือทางด้านความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะคำนึงถึงพลวัตการพัฒนาของประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง โดยประเทศไทยนั้นสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างดีในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีประเด็นท้าทายในระยะต่อไป"

กรอบความร่วมมือระดับประเทศนี้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย (2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ของประเทศไทย

กลุ่มธนาคารโลกจะให้ความสำคัญกับการให้บริการด้านคำปรึกษาและการวิเคราะห์ที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายคืนได้หรือสามารถขอรับการสนับสนุนจากกองทุนที่เกี่ยวข้อง และจะยังคงเปิดช่องทางในการให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาเงินทุนในอนาคตหากรัฐบาลไทยมีความต้องการ

"ความร่าวมมือระหว่างประเทศไทยและกลุ่มธนาคารโลกในระยะต่อไปจะเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วมและมีความยั่งยืน" นางเบอร์กิท ฮานสล์ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “โดยเราจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยการสร้างงานที่ดี การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อให้เยาชนมีความพร้อมในการทำงานในอนาคต และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนจนและคนชายขอบจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของประเทศไทย "

บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศจะให้บริการจัดหาเงินทุนและให้คำปรึกษากับภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมต่อไป โดยสถาบันประกันการลงทุนพหุภาคีจะให้การสนับสนุนการลงทุนที่เป็นไปตามเงื่อนไขด้วยการเพิ่มความน่าเชื่อถือของตราสารและการรับทำประกันความเสี่ยงทางการเมือง

 “บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่งยั่งยืน การสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการมีบทบาทของประเทศไทยในการลงทุนในต่างประเทศและการแบ่งปันความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้กับประเทศและภาคส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือ” นายวิครัม คูมาร์ผู้จัดการบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศประจำประเทศไทยและเมียนมาร์กล่าว “ภายใต้กรอบความร่วมมือใหม่นี้ เราจะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ในการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มคนด้อยโอกาสในประเทศไทยในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลและลดต้นทุนการให้บริการของภาครัฐ

กรอบความร่วมมือระดับประเทศนี้จะเกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบเพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาในด้านการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ความมีภูมิคุ้นกัน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้:

  • การพัฒนาสภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจด้วยการส่งเสริมการแข่งขันและใช้นวัตกรรม
  • เสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรทางการเงินและการคลัง
  • การเพิ่มคุณภาพของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในภาคการขนส่งทางราง
  • การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการทรัพยากรน้ำ
  • ส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพ
  • สนับสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความเปราะบางและความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย

ทั้งนี้ การจัดทำกรอบความร่วมมือระดับประเทศได้มีการการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศ และได้แจ้งเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นการพัฒนาแล้ว

อัพเดทครั้งล่าสุด: วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่: 2019/090/EAP

รายชื่อผู้ติดต่อ

ในกรุงเทพฯ
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
+662-686-8385
+668-1846-1246
kanitha@worldbank.org
ในกรุงวอชิงตันฯ
Marcela Sanchez-Bender
+1 (202) 473-5863
msanchezbender@worldbank.org
Api
Api