มะนิลา 4 ตุลาคม 2561 - รายงานเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับล่าสุดของธนาคารโลกชี้ว่า ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นบวก แม้ว่าปัจจัยแวดล้อมภายนอกจะไม่เอื้อต่อการเติบโตก็ตาม คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตร้อยละ 6.3 ในปีพ.ศ. 2561 ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปีพ.ศ. 2560 จากการที่เศรษฐกิจของจีนยังคงเติบโตในระดับปานกลางเนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับสมดุลย์ทางเศรษฐกิจ
รายงาน East Asia and Pacific Economic Update ภายใต้ชื่อ Navigating Uncertainty ประจำเดือนตุลาคม 2561 เปิดตัววันนี้ ได้เน้นว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีเสถียรภาพลดลง เนื่องจากปัจจัยหลายร่วมหลายประการ ได้แก่ ความตึงเครียดทางการค้า สหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาห์สหรัฐแข็งตัว และความผันผวนจากตลาดการเงิน ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
“เศรษฐกิจที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องเป็นกุญแจสำคัญในการลดความยากจนและความเปราะบางในภูมิภาค” นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “นโยบายกีดกันและความผันผวนของตลาดเงินจะส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลาง อีกทั้งจะส่งผลลบต่อกลุ่มคนยากจนที่สุดและกลุ่มเปราะบาง ในช่วงเวลานี้ ผู้กำหนดนโยบายควรใช้ความระมัดระวัง เตรียมความพร้อม และสร้างความยืดหยุ่นไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ประเทศสามารถรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจได้”
เศรษฐกิจของจีนคาดว่าจะเติบโตระดับปานกลางที่ร้อยละ 6.5 ในปีพ.ศ. 2561 หลังจากเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2560 เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งไม่รวมประเทศจีน คาดว่าจะเติบโตคงที่ที่ร้อยละ 5.3 ในช่วงปีพ.ศ. 2561-2563 จากการบริโภคภายในประเทศ เศรษฐกิจของประเทศไทยและเวียดนามคาดว่าจะเติบโตอย่างเข้มแข็งในปีพ.ศ. 2561 ก่อนจะชะลอตัวลงในปีพ.ศ. 2562-2563 เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็งเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกสุทธิได้ เศรษฐกิจของอินโดนีเซียยังเติบโตคงที่จากแนวโน้มการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะยังคงชะลอตัว แต่ทว่าการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ส่วนเศรษฐกิจของมาเลเซียจะเติบโตลดลง อันเป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัว การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงหลังจากมีการยกเลิกโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 2 โครงการ
การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา สปป.ลาว มองโกเลีย และเมียนมาร์ยังเข้มแข็งและเติบโตเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 6 ในช่วงปีพ.ศ. 2561-2563 เศรษฐกิจของประเทศติมอร์-เลสเตย์คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวหลังสถานการณณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ส่วนปาปัวนิวกินีคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปีพ.ศ. 2562 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนเศรษฐกิจของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกคาดว่าจะคงมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะมีความเปราะบางต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติสูง
“ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลกของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในการรับมือกับปัจจัยภายนอก ความเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ได้แก่ การเพิ่มอัตราการกีดกันทางการค้า ความผันผวนของตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้น และการตอบสนองต่อความเปราะบางเรื่องการเงินการคลังในประเทศ” นายชูเดียร์ แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “ในสภาวะการณ์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นนี้ ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคจะต้องใช้นโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาค ด้านการกำกับดูแล และด้านโครงสร้างอย่างรอบคอบเพื่อให้สามารถรับมือกับปัจจัยลบจากภายนอกได้อย่างราบรื่น และเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเต็มศักยภาพ”
รายงานนี้ได้เสนอแนวทางสี่ประการสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ดังนี้
- ลดความเสี่ยงระยะสั้น และสร้างนโยบายที่จะลดผลกระทบ การใช้นโยบายกำกับดูแลมหภาคสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของภาคการเงิน ลดความผันผวนจากตลาดทุน และจัดการกับความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยน อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะสามารถช่วยประเทศต่างๆ ให้ซึมซับและปรับตัวรับปัจจัยภายนอกได้ นอกจากนี้ นโยบายการคลังที่เข้มงวดจะช่วยรักษาหรือสร้างกันชนเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจขาลงในอนาคตได้โดยไม่กระทบกับความยั่งยืนของหนี้สาธารณะ
- การเพิ่มข้อตกลงเปิดระบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศตามกฎเกณฑ์เป็นสองเท่า รวมถึงการรวมตัวด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้มากกว่าเดิม เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถได้รับประโยชน์จากการเพิ่มความเข้มข้นของสิทธิพิเศษตามข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ และกำแพงภาษีต่ำ นอกจากนี้ ยังสามารถเลี่ยงความตึงเครียดทางการค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ด้วยการเจรจาการค้าแบบทวิภาคี หรือ เจรจาผ่านองค์การการค้าโลก (WTO)
- การปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึก รวมถึงการเปิดเสรีในภาคส่วนที่สำคัญ การปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน และการกระตุ้นขีดความสามารถในการแข่งขัน การช่วยให้ SMEs สามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงระหว่างบริษัทในประเทศกับบริษัทต่างชาติสามารถแข่งขันกันได้จะช่วยลดปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดพลาดและสร้างงานที่ดีได้
- การสร้างความเข้มแข็งให้กับความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในกลุ่มเป้าหมาย ระบบการประกันสังคมที่มีความยั่งยืนทางการเงิน การพัฒนาการเข้าถึงบริการก่อนคลอดและการดูแลเด็กในวัยก่อนเรียนให้ดีขึ้น การให้ทรัพยากรแก่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กันดาร รวมถึงการลดช่องว่างในการเข้าถึง และคุณภาพทางการศึกษา
สำหรับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกนั้น รายงานนี้ได้เน้นว่าต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความยั่งยืนด้านการคลังและหนี้สาธารณะ ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง การปรับปรุงความยั่งยืนของหนี้สาธารณะนั้นจะต้องใช้ความพยายามในการสร้างความเข้มแข็งด้านนโยบายและการจัดการหนี้สาธารณะ การปรับปรุงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ การลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในอนาคตจะต้องสร้างกันชนด้านการคลัง การปรับปรุงการรับมือวิกฤติการณ์ การบริหารจัดการ การลดผลกระทบ และการขยายกลไกการคุ้มครองทางสังคมให้กับกลุ่มเป้าหมาย