Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์

รายงานของธนาคารโลกพบว่า ประเทศไทยสามารถกลับสู่เส้นทางการเติบโตที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้

วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560


กรุงเทพฯ 13 มีนาคม 2560 -  รายงานเล่มใหม่ของธนาคารโลกค้นหาแนวทางที่จะทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง ในแนวทางที่มีประโยชน์สำหรับคนไทยทั้งประเทศและปกป้องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

รายงาน กลับสู่เส้นทาง: ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน”นี้ เป็นรายงานวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบเล่มแรกของไทย ซึ่งประเมินความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยในการกำจัดความยากจนและกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง

รายงานนี้ได้เน้นความสำคัญสี่ด้านดังนี้

  • การสร้างงานที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยการปรับปรุงการเชื่อมโยงในภูมิภาคด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น การเพิ่มการแข่งขันผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรม
  • การสนับสนุนคนจนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 40 ของประชากรไทยทั้งหมดด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและทักษะให้กับกำลังแรงงานทั้งระบบ การเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตร และการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็งกกว่าเดิม
  • การสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดความเปราะบางต่อภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานทดแทน
  • การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสถาบันให้กับภาครัฐ เพื่อให้การดำเนินการปฏิรูปประเทศในเรื่องที่สำคัญให้บรรลุผลสำเร็จ

ประเทศไทยเป็นประเทศทีมีศักยภาพสูงนายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “รายงานนี้ได้ระบุนโยบายที่สามารถสร้างโอกาสสำหรับคนไทยจำนวนมากให้มีรายได้และชีวิตที่มีคุณภาพ  ช่วยเด็กไทยจากครอบครัวยากจนให้มีโอกาสที่จะเติบโตมีชีวิตที่รุ่งเรือง และพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมที่ฉลาดเพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางเมื่อพวกเขาแก่ตัวลง ล้มป่วย หรือไม่มีงานทำ

ประเทศไทยเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาอย่างน่าประทับใจ อย่างไรก็ตาม ในปีพ.ศ. 2557 พบว่ายังคงมีคนไทยอีก 7 ล้านคนที่ยังคงยากจน และอีก 6.7 ล้านคนที่มีความเสี่ยงที่จะกลับไปยากจนได้ นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญของไทย

ในช่วงปีพ.ศ. 2503-2539 เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตที่ระดับร้อยละ 7.5  แต่อัตราการเติบโตนี้ได้ลดลงเหลือร้อยละ 3.3 ในช่วงปีพ.ศ. 2548-2558  ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ช้าลง และช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน

เหตุผลสำคัญที่มีการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจไทยคือ การที่ประเทศไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเคยมีเหนือประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนในอดีต จากคะแนนขีดความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก พบว่าระหว่างปีพ.ศ. 2549/50 และ 2559/60 ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อาทิ มาเลเซียและเวียดนามสามารถไล่ทันหรือแซงประเทศไทยในหลายด้าน อาทิ นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การอุดมศึกษา และการฝึกอบรม

“นอกจากการวิเคราะห์และการทบทวนวรรณกรรมเพื่อใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เรายังได้มีการปรึกษาหารือกับภาครัฐ และกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ หลายภาคส่วนทั่วประเทศ รวมถึงหุ้นส่วนด้านการพัฒนา ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม” นายลารส์ ซอนเดอร์การ์ด หัวหน้ากลุ่มงานด้านการพัฒนามนุษย์และความยากจนซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของรายงานนี้กล่าว “เราหวังว่าการศึกษานี้จะช่วยให้รัฐบาลและหุ้นส่วนอื่นๆ ได้นำไปใช้เพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทย”


สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน กรุงเทพฯ
ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ
โทร: +662-686-8385
kanitha@worldbank.org
ใน วอชิงตัน ดีซี
เจน ชาง
โทร: +202-473-1376
janezhang@worldbank.org




Api
Api

Welcome