รายงาน Doing Business พบว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
กรุงเทพฯ 26 ตุลาคม 2559 – รายงาน Doing Business ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 46 ซึ่งทำให้ไทยยังคงอยู่ใน 50 ประเทศแรกที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจจาก 190 ประเทศทั่วโลก
รายงาน Doing Business 2017: โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน ซึ่งเปิดตัววันนี้ พบว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมากกว่า 2 ใน 3 จากทั้งหมด 25 ประเทศได้ดำเนินการปฏิรูป 45 เรื่อง ในปีที่ผ่านมาทำให้การประกอบธุรกิจในภูมิภาคนี้มีความสะดวกมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้ทำการปฏิรูปโดยเฉลี่ย 28 เรื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้ดำเนินการปฏิรูปเพิ่มขึ้นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจสะดวกยิ่งขึ้น
4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ได้รับการจัดให้อยู่ใน 10 ลำดับแรกของโลกได้แก่ นิวซีแลนด์ (1) ตามด้วย สิงคโปร์ (2) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (4) และ เกาหลีใต้ (5)
โดยรวมแล้ว ประเทศไทยสามารถลดช่องว่างในการดำเนินงานและช่วงห่างจากประเทศชั้นนำต่างๆ โดยได้รับคะแนนจากรายงาน Doing Business 2017 เพิ่มขึ้นเป็น 72.53 คะแนนในปีพ.ศ. 2560 จากเดิม 71.65 คะแนนในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจด้วยการดำเนินการปฏิรูป 3 ด้านในปีที่ผ่านมา ได้แก่ การช่วยให้การเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยสะดวกขึ้นด้วยการสร้างระบบการบริการจ่ายเงินลงทะเบียนไว้ที่จุดเดียวกัน และยังลดระยะเวลาในการขอรับตราประทับของบริษัท นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลด้านสินเชื่อโดยเริ่มให้ข้อมูลคะแนนสินเชื่อแก่ธนาคารและสถาบันการเงิน รวมถึงทำให้การแก้ไขปัญหาการล้มละลายรวดเร็วขึ้นด้วยการปรับโครงสร้างของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมใหม่ และการปรับปรุงกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับชำระบัญชีของบริษัทให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
“ประเทศไทยได้มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อช่วยให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น” นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “ประเทศไทยสามารถปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดียิ่งขึ้นได้ ด้วยการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะผ่านการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ยังจะช่วยให้คนไทยมีงานทำและเป็นงานที่ดีขึ้นด้วย”
ในภูมิภาคนี้ บรูไนดาลุสซาลามและอินโดนีเซียยังเป็นอีก 2 ประเทศใน 10 ประเทศของโลกที่มีการปฏิรูปมากที่สุด
อินโดนีเซียได้ทำการปฏิรูป 7 เรื่องในปีที่ผ่านมาซึ่งช่วยให้การเริ่มต้นธุรกิจง่ายขึ้นด้วยการลดจำนวนเงินทุนขั้นต่ำสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และยังได้ส่งเสริมให้มีการจองชื่อบริษัทผ่านระบบออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันการเริ่มต้นทำธุรกิจในกรุงจาร์กาตาจึงใช้เวลาเพียง 22 วัน เทียบกับ 47 วัน ในปีที่ผ่านมา
ปีที่ผ่านมา บรูไนดารุสซาลามได้ดำเนินการปฏิรูป 6 เรื่องส่งผลให้การจ่ายไฟฟ้ามีความเสถียรมากขึ้นด้วยการนำระบบอัติโนมัติมาจัดการระบบการติดตามไฟฟ้าดับและการต่อเชื่อมกับไฟฟ้าใหม่ นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ ยังสามารถขอใช้ไฟฟ้าได้เร็วขึ้นเนื่องจากการนำระบบพิจารณาการขอใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาใช้ ปัจจุบันนี้ ธุรกิจต่างๆ สามารถเชื่อมต่อไฟฟ้ากับโครงข่ายได้ในภายในเวลา 35 วัน เทียบกับ 56 วัน ในปีที่ผ่านมา
วานูอาตูได้ทำการปฏิรูป 4 เรื่องซึ่งช่วยให้การเริ่มธุรกิจง่ายขึ้นด้วยการยกเลิกข้อบังคับในการจดทะเบียน และเปลี่ยนระบบจดทะเบียนบริษัทให้เป็นระบบดิจิตอล
“การที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้ทำการปฏิรูปในด้านต่างๆ นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจให้ดีขึ้น จากที่ได้มีการปฏิรูปที่สำคัญตั้งแต่ปีก่อน เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ยังคงมีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดบรรยากาศทางธุรกิจที่สะดวกสำหรับผู้ประกอบการในท้องถิ่น” นางริต้า รามาลโฮ ผู้จัดการ รายงาน Doing Business กล่าว
อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำหรับภูมิภาคนี้ยังคงอยู่ที่ การเริ่มต้นธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศ และการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง ตัวอย่างเช่น โดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศในภูมิภาคนี้ต้องใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 57 ชั่วโมงในการดำเนินการตามข้อบังคับเรื่องการค้าระหว่างประเทศในการส่งออก ซึ่งถือว่านานมากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมง
ปีนี้นับเป็นปีแรกที่รายงาน Doing Business ได้นำเรื่องความเสมอภาคทางเพศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้คะแนนเพื่อจัดอันดับ โดยมี 3 ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ การจดทะเบียนสินทรัพย์ และการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง รายงานพบว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคนี้ที่ยังมีข้อจำกัดทางเพศใน 3 ตัวชี้วัดดังกล่าว เช่น มาเลเซียและบรูไนดาลุสซาลามที่มีขั้นตอนเพิ่มเติมสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วในการเริ่มต้นธุรกิจ
นอกจากนี้ ตัวชี้วัดเรื่องการชำระภาษียังได้ขยายขอบเขตครอบคลุมขั้นตอนหลังการกรอกข้อมูล อาทิ การตรวจสอบภาษี และการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ดี อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อยกเว้นในบางประเทศ เช่น บรูไนดาลุสซาลามและติมอร์ เลสเตยังใช้เวลาในการตรวจสอบภาษีค่อนข้างมาก รวมถึง ตองกาและฟิจิซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมากในขั้นตอนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ท่านสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มและชุดข้อมูลประกอบรายงานฉบับนี้ได้นี้ได้ที่เว็บไซต์