กรุงเทพฯ 27 พฤษภาคม 2559 – องค์กรชุมชนและนักวิชาการจากประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ได้รับรางวัลจากธนาคารโลกด้วยโครงการนวัตกรรมในการป้องกันความรุนแรงทางเพศต่อพนักงานบริการหญิง
โครงการ ‘เครือข่ายพนักงานบริการเฝ้าระวังความรุนแรง’ เป็น 1 ใน 9 โครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์จากทั่วโลกที่ได้รับรางวัลจากกลุ่มธนาคารโลก และศูนย์วิจัยด้านความรุนแรงทางเพศ (SVRI) เพื่อยกย่องความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อการป้องกันการใช้ความรุนแรงทางเพศ
“การใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทั่วโลกเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ทั้งยังเปรียบเสมือนเสียงเรียกให้เราทุกคนหันมาหารือและแก้ไข้ปัญหา,” คุณอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “นอกจากการมอบรางวัลให้แก่ทีมจากประเทศไทยที่ทำงานเพื่อพนักงานบริการหญิงที่มีความเปราะบางต่อความรุนแรง และรางวัลสำหรับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ธนาคารโลกได้เดินหน้ามองหาวิถีทางที่จะจุดประกายความคิดสร้างสรรค์เพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งต่อสตรีหรือบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นเพศปกติ หรือ กลุ่ม LGBTI ก็ตาม”
ดร. มิเชล เด็กเคอร์ สุรางค์ จันทร์แย้ม จำรอง แพงหนองยาง และ ดร.ดุสิตา พึ่งสำราญ ซึ่งเป็นสมาชิกของทีมจากประเทศไทย จะใช้เงินสนับสนุนที่ได้รับนี้ในการดำเนินโครงการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันความรุนแรงทางเพศในกลุ่มพนักงานบริการหญิง ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนที่ทำงานให้บริการด้านเอชไอวีและปกป้องสิทธิของพนักงานบริการในประเทศไทย
จากงานวิจัยพบว่าร้อยละ 15 ของพนักงานบริการหญิงในประเทศไทยระบุว่ามีประสบการณ์ถูกใช้ความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศในระยะเวลา 7 วันก่อนที่ทีมวิจัยได้เริ่มทำสำรวจกับกลุ่มตัวอย่าง อีกทั้งสัดส่วนของกลุ่มพนักงานบริการในกรุงเทพฯ และกลุ่มพนักงานที่ไม่ได้ทำงานในสถานบริการ ก็เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 และร้อยละ 29 ตามลำดับ
ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงานบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี รวมถึงความสามารถในการป้องกันความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์
ยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมกันทางเพศ 2559– 2566 ของกลุ่มธนาคารโลกฉบับใหม่ กระตุ้นและเรียกร้องให้มีการลงทุนในการป้องกันและการรับมือกับปัญหาการใช้ความรุนแรงทางเพศในหลากหลายภาคส่วน นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึง 3 หัวข้อหลักเพื่อนำไปปฏิบัติ อันได้แก่ สนับสนุนโครงการเพื่อลดและรับมือต่อการใช้ความรุนแรงในคู่ครอง พัฒนาแผนการให้
ความช่วยเหลือในการยกระดับความปลอดภัยในที่ทำงานและระบบขนส่งมวลชน และใช้วิธีการเข้าถึงผู้หญิงในพื้นที่ๆ มีความขัดแย้ง แบบบูรณาการทั้งด้านสุขภาพและด้านชีวิตความเป็นอยู่
กลุ่มธนาคารโลกยังให้ความสำคัญกับเรื่องการหลอมรวมทางสังคม ซึ่งรวมถึงการยอมรับบุคคลตามเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชายรักชาย หญิงรักหญิง คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ หรือ คนที่มีลักษณะแสดงเพศทั้งสองเพศ นอกจากนี้จำนวนประชากรกลุ่ม LGBTI ที่ยากจนนั้นมีมากกว่าประชากรเพศปกติ และการกีดกันประชากรเหล่านี้มีผลกระทบอย่างมากต่อการเดินหน้าบรรลุเป้าหมายการการยุติความยากจน และ การกระจายความมั่งคั่ง
การใช้ความรุนแรงกับกลุ่ม LGBTI ทั่วไปและในโรงเรียนยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลในด้านลบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจสังคม ในขณะเดียวกันผลกระทบจากการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และการกีดกัน ทำให้กลุ่ม LGBTI ในประเทศไทยต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงในอัตราที่สูง อีกทั้งยังประสบกับความทุกข์ยากจากความไม่เท่าเทียมตลอดชีวิตของพวกเขา ซึ่งเนื่องมาจากขาดการศึกษาหรือได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำ
ทั้งนี้แต่ละทีมจะได้รับเงินสนับสนุนสูงสุดถึงทีมละ 150,000 เหรียญสหรัฐ จากเงินทุนทั้งหมด 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากทีมจากประเทศไทย ยังมีผู้ชนะรางวัลในโครงการ Development Marketplace อื่นๆ อีกได้แก่ สถาบันวิจัย องค์กรไม่แสวงผลกำไร และองค์กรให้ความช่วยเหลือ จาก บังคลาเทศ บราซิล เคนย่า เลบานอน มอลโดวา เปรู ตุรกี และอูกันดา