กรุงเทพฯ 5 เมษายน 2559 – วันนี้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมหารือการเดินหน้าแผนการดำเนินงานภายใต้นโยบายสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในกรอบความร่วมมือโครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก (Partnership for Market Readiness) โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกภาคีร่วมกับนานาประเทศมากกว่า 30 ประเทศที่มีจุดประสงค์ร่วมเพื่อล การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงานในประเทศที่กำลังพัฒนา
โครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก จัดตั้งขึ้นโดยธนาคารโลกเมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยเป็นความร่วมมือระดับนานาชาติที่จะให้เงินสนับสนุนแบบให้เปล่ากับประเทศในการพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคนิคและเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน รวมถึงการนำร่องการใช้นวัตกรรมกลไกตลาดเพื่อยกระดับความพยายามในการบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกนี้จะให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยในความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้พลังงานที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ โครงการนี้จะให้ข้อมูลเพื่อช่วยรัฐบาลตัดสินใจเชิงนนโยบายในการพัฒนาเครื่องมือกลไกตลาดซึ่งจะช่วยกำหนดราคาคาร์บอนอันถือเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ดำเนินการอยู่แล้วในหลายประเทศทั่วโลก
ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ให้ความสนับสนุนทางการเงินแบบให้เปล่าแก่ประเทศไทยในวงเงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นกองทุนสำหรับจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศต่างๆ
“ธนาคารโลกมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก” ดร. อูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “โครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกนั้นเป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยประเทศต่างๆ พัฒนาและจัดตั้งกลไกตลาดสำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะ และจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก”
ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นลำดับที่ 22 ของโลกและมากเป็นลำดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ภาคพลังงานเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประเทศไทย หากยังคงใช้พลังงานในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันต่อไป ภาคพลังงานจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงร้อยละ 76 ในปี พ.ศ. 2593
“การสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารโลกจะเป็นพลังผลักดันสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อเริ่มกำหนดราคาคาร์บอนและกลไกตลาดใหม่ๆ ในประเทศไทย” คุณประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าว “ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้เฉพาะทางของธนาคารโลก ประสบการณ์จากประเทศต่างๆ รวมไปถึงการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนร่วมและความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการดำเนินการตามนโยบายสภาพภูมิอากาศของประเทศ”
ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2558 หรือ COP21 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประเทศไทยยังได้แสดงเจตจำนงค์ในการใช้แนวทางการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำและตั้งเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2573