ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศกาลังพัฒนา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะยังคงเติบโตได้ดีในปี 2558

วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558


ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการปฏิรูปทางการคลัง

สิงคโปร์ วันที่ 13 เมษายน 2558 – รายงาน East Asia Pacific Economic Update ของธนาคารโลกที่การเผยแพร่ในวันนี้ได้คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะชะลอตัวลงเล็กน้อยในปีนี้ แม้ว่าภูมิภาคนี้จะได้รับประโยชน์จากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม

รายงานได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะเติบโตร้อยละ 6.7 ในปี 2558 และปี 2559 ลดลงจากปี 2556 ที่มีการเติบโตร้อยละ 6.9 ประเทศจีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 7 ในช่วง 2 ปี ข้างหน้าเมื่อเทียบกับการเติบโตร้อยละ 7.4ในปี 2557 ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคฯ คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 5.1 ในปีนี้ โดยเป็นการขยายตัวที่สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นผลมาจากแรงผลักดันจากอุปสงค์ภายในของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาค เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ มองโกเลียจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง

นายแอ็กเซล ฟาน ทรอตเซนบวร์ก รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า “แม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังมีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 3 ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก อีกทั้งยังเป็นการเติบโตที่สูงกว่าการการขยายตัวโดยรวมของภูมิภาคกำลังพัฒนาอื่นๆ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงจะทำให้อุปสงค์ภายในของประเทศส่วนใหญ่ของภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังเปิดโอกาสให้ผู้กำหนดนโยบายผลักดันการปฏิรูปทางการคลังเพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และปรับแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเพื่อลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือการใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพ  ดยการปฏิรูปทางการคลังนี้สามารถช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยให้ภูมิภาคนี้ยังคงเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกต่อไปได้”

ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ ไทย และกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ อาทิ มาเลเซียและปาปัวนิวกินีจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่ลดลง ส่วนประเทศอินโดนีเซียนั้นผลกระทบสุทธิของราคาน้ำมันที่ลดลงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับการปรับตัวลดลงของราคาส่งออกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ในขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้สูงยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่ทั่วถึง โดยภาวะเศรษฐกิจซบเซาในกลุ่มประเทศในยูโรโซนและญี่ปุ่นจะส่งผลทำให้การค้าโลกปรับตัวลดลง นอกจากนี้ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและการแข็งค่าของค่าเงินเหรียญของสหรัฐฯ รวมถึงความแตกต่างของนโยบายทางการเงินของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความผันผวนในระบบการเงินโลกและทำให้เงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกลดลง โดยการแข็งค่าของค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับค่าเงินสำคัญสกุลอื่นๆ อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศที่มีการผูกค่าเงินไว้กับเงินเหรียญสหรัฐฯ เช่น กัมพูชา และติมอร์ เลสเต เป็นต้น

นายชูเดียร์ เช็ตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า “เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเติบโตได้ดี แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัวอย่างจำกัดจากวิกฤตทางการเงิน อย่างไรก็ดี ภูมิภาคนี้ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ การพัฒนาบริหารจัดการนโยบายทางการคลังเป็นปัจจัยที่สำคัญในการจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าว นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิก็ตามควรใช้โอกาสจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในการปฏิรูปนโยบายการกำหนดราคาพลังงานเพื่อปรับโครงสร้างนโยบายทางการคลังให้มีความยุติธรรมและยั่งยืน”

รายงานฉบับนี้ยังได้เสนอว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่สามารถหางบประมาณเพิ่มเติมและปรับโครงสร้างของการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือจัดทำโครงการด้านการคุ้มครองทางสังคมและการประกันสุขภาพซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภูมิภาคนี้ที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี การสรรหางบประมาณเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวของประเทศที่มีการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน รวมทั้งมองโกเลียจะต้องอาศัยมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงสร้างโอกาสให้กับรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาในการปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานและการเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันและเชื้อเพลิงต่างๆ เนื่องจากการอุดหนุนราคาพลังงานและการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นภาระทางการคลังและบั่นทอนสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศส่วนมากในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ บางประเทศ อาทิ อินโดนีเซียและมาเลเซีย ได้เริ่มลดการอุดหนุนราคาพลังงาน  อย่างไรก็ตาม นายชูเดียร์ เช็ตตี้ ยังระบุว่าการดำเนินงานจะต้องมีความต่อเนื่องและจะต้องขยายการดำเนินการเพิ่มเติมแม้ว่าราคาน้ำมันจะมีการปรับตัวสูงขึ้นก็ตามในอนาคต

สำหรับประเทศจีนซึ่งอยู่ระหว่างการเปลี่ยนจากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการลงทุนไปสู่แนวทางการพัฒนาที่เน้นการบริโภค ประเด็นท้าทายที่สำคัญ ได้แก่ การดำเนินการปฏิรูปที่จะสามารถนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยรายงานฉบับนี้ได้ระบุว่า นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนควรสนับสนุนการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจในลักษณะดังกล่าว

รายงานฉบับนี้ยังได้ระบุว่า ในระยะกลาง ประเทศต่างๆ ควรขยายและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาและการบริการด้านสาธารณสุข  ส่วนแผนระยะยาวนั้น ประเทศต่างๆ จะต้องหาแนวทางในการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการให้บริการสาธารณสุขและการขยายฐานภาษีเพื่อการดำเนินการด้านประกันสังคม

รายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia Pacific Economic Update) เป็นรายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจของภูมิภาคจัดทาโดยธนาคารโลก เผยแพร่ปีละ 2 ครั้ง และสามารถติดตามได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ https://www.worldbank.org/eapupdate



สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน สิงคโปร์
Dini Djalal
โทร: +62-21-5299-3156
ddjalal@worldbank.org
ใน วอชิงตัน
Jane Zhang
โทร: +1-202-473-1376
janezhang@worldbank.org


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2015/384/EAP

Api
Api

Welcome