กรุงวอชิงตัน (7 มกราคม 2558) – รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Prospects) จัดพิมพ์โดยกลุ่มธนาคารโลกที่เผยแพร่ในวันนี้ได้วิเคราะห์ว่า ภายใต้แนวโน้มการส่งออกที่อ่อนแอ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของโลกที่กำลังจะปรับตัวขึ้น รวมถึงบรรยากาศในตลาดทุนที่มีความอ่อนไหวนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการคลังเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยสำหรับประเทศกำลังพัฒนา การปรับตัวลงของราคาน้ำมันเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันดังกล่าว
ประเทศที่มีระดับหนี้ภายในประเทศหรือมีภาวะเงินเฟ้อที่สูง การใช้นโยบายทางการเงินในการรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจนั้นมีข้อจำกัด ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศเหล่านี้อาจจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ มีพื้นที่ทางการคลังในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 2551 เนื่องจากประเทศเหล่านี้ได้ใช้มาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ระดับหนี้ครัวเรือนในหลายประเทศได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
รายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์ว่า ประเทศที่มีหนี้และการขาดดุลงบประมาณในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตทางการเงิน การอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีผลเพียง 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับการใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันในช่วงก่อนวิกฤตฯ เนื่องจากผลทวีคูณของมาตรการทางการคลัง (fiscal multiplier effect) ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำลงในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องฟื้นฟูงบประมาณภาครัฐในระยะกลางภายใต้บริบทและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ สำหรับประเทศผู้นำเข้าน้ำมันต่างๆ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในปัจจุบันเป็นโอกาสที่ดีที่จะฟื้นฟูสถานะทางการคลังได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับเมื่อช่วงกลางปี 2557
“เนื่องจากราคาน้ำมันคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันควรลดหรือขจัดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง และฟื้นฟูสถานะทางการคลังเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการคลังสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต โดยในเชิงนโยบายแล้ว ทั้งขนาดและคุณลักษณะของนโยบายขาดดุลทางการคลังนั้นมีความสำคัญไม่ต่างจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งนี้ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนโครงการสวัสดิการสังคมซึ่งมีผลต่อการลดความยากจน โดยนโยบายดังกล่าวสามารถยกระดับผลิตภาพทางเศรษฐกิจและลดระดับการขาดดุลทางการคลังในระยะยาวได้” ดร. คาซิก บาซู รองประธานอาวุโสและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มธนาคารโลก กล่าว “รายงาน Global Economic Prospects ปีนี้ได้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ทนอกเหนือจากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจและทำให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น”
รายงานฉบับนี้ระบุถึงผลดีของการมีกลไกทางการคลังที่ดีและน่าเชื่อถือ เช่น วินัยทางการคลัง กองทุนเพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และกรอบการใช้จ่ายในระยะกลาง เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างความมั่นคงทางการคลังในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ
“การสร้างพื้นที่ทางการคลังนั้นจะเป็นประโยชน์สำหรับการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ โดยการมีพื้นที่ทางการคลังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งภายใต้บริบทของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทางเลือกด้านนโยบายที่จำกัด รวมถึงเงื่อนไขทางการเงินของโลกที่จะมีข้อจำกัดมากขึ้น” ดร.อัญญา โคส ผู้อำนวยการกลุ่มงานแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจ ของกลุ่มธนาคารโลก กล่าว