กรุงวอชิงตัน ดีซี, 29 ตุลาคม 2556—รายงานของกลุ่มธนาคารโลกฉบับล่าสุดพบว่าสิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการท้องถิ่นมากที่สุดในโลก ตามด้วยฮ่องกง ในปีที่ผ่านมาประเทศเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก 15 ประเทศ (จาก 25 ประเทศ) มีการปฏิรูปกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจอย่างน้อย 1 รายการ
รายงาน Doing Business 2014: Understanding Regulations for Small and Medium-Size Enterprises พบว่านับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก 24 ประเทศ (จาก 25 ประเทศ) มีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบเพื่อให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ จีนถือว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุดในการปรับปรุงกฎระเบียบทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่น
ฟิลิปปินส์เป็น 1 ใน 10 ประเทศทั่วโลกที่มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ง่ายต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุดในปีที่ผ่านมา รัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินการปฏิรูปกฎระเบียบ 3 ด้านคือ การนำระบบการยื่นแบบฟอร์มและชำระภาษีออนไลน์มาใช้งานอย่างเต็มรูปแบบทำให้บริษัทสามารถดำเนินการและจัดการภาษีตามกฎหมายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การปรับปรุงขั้นตอนการอนุญาตให้เข้าอยู่ (occupancy clearance) ให้ง่ายและรวดเร็วขึ้นนั้นช่วยให้การอนุญาตก่อสร้างทำได้สะดวกขึ้น รวมไปถึงกฎระเบียบใหม่ที่อนุญาตให้ผู้กู้ยืมมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลของตนที่อยู่ในศูนย์ข้อมูลเครดิตที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
“เป็นครั้งแรกที่รายงาน Doing Business ได้ทำการสำรวจกฎระเบียบในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งเพิ่งเปิดประเทศหลังจากปิดตัวอย่างโดดเดี่ยวมานาน” นายออกุสโต โลเปซ-คลารอส ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และตัวชี้วัดของกลุ่มธนาคารโลกกล่าว “จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีการพิจารณากำหนดขอบเขตของการปฏิรูปอยู่ไม่น้อย และมีความพยายามในการที่จะปฏิรูปกฎระเบียบทางธุรกิจของประเทศ หากสามารถขจัดปัญหาที่ทำให้เกิดการติดขัดในการสร้างสรรค์และการเติบโตของธุรกิจติดไปได้ รัฐบาลเมียนมาร์จะสามารถส่งสัญญาณให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศ ดังเช่นในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคที่ได้ทำมาก่อนหน้า”
ประเทศซึ่งมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากที่สุดในโลก10 อันดับแรกนอกจากสิงคโปร์และฮ่องกงแล้ว ได้แก่ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก มาเลเซีย เกาหลีใต้ จอร์เจีย นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร รายงานประจำปีนี้ยังนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ที่ใช้บังคับสัญญา ระบบการชำระภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซีย และระบบข้อมูลหน้าต่างเดียว (single-window system) ของสิงคโปร์ที่ใช้สำหรับการค้าข้ามพรมแดน
นอกจากการจัดอันดับโลกแล้ว Doing Business ได้รายงานเกี่ยวกับประเทศที่มีการพัฒนามากที่สุดตามดัชนีชี้วัด ซึ่ง10 อันดับแรกของปีนี้ (เรียงตามลำดับการปรับปรุง) ได้แก่ ยูเครน รวันดา สหพันธรัฐรัสเซีย ฟิลิปปินส์ โคโซโว จิบูตี โกตดิวัวร์ (ไอโวรี่ โคสต์) บุรุนดี สาธารณรัฐมาซิโดเนีย (อดีตสาธารณรัฐยูโกสลาฟมาซิโดเนีย) และกัวเตมาลา อย่างไรก็ตามใน 10 ประเทศที่ปรับปรุงมากที่สุดนี้ ยังคงมีความท้าทายอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ บุรุนดี โกตดิวัวร์ จิบูตี ฟิลิปปินส์ และ ยูเครน ซึ่งยังคงอยู่ในลำดับล่างของลำดับโลกในเรื่องของความยากง่ายในการประกอบธุรกิจที่วัดจากรายงานฉบับนี้
เกี่ยวกับรายงาน Doing Business
รายงาน Doing Business จัดทำโดยธนาคารโลกและ บรรษัทการเงินระหว่างประเทศเพื่อวิเคราะห์กฎระเบียบสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศอย่างครบวงจรตั้งแต่ การเริ่มต้นและการดำเนินงาน การค้าขายระหว่างประเทศ การชำระภาษี ไปถึงการแก้ปัญหาการล้มละลาย การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจโดยรวมนั้นวัดจากตัวชี้วัดทั้งหมด 10 ตัวชี้วัด และครอบคลุม 189 ประเทศ รายงาน Doing Business ไม่ได้วัดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับบริษัทหรือนักลงทุน อาทิ รายงานนี้ไม่ได้สำรวจคุณภาพการบริหารการคลัง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคด้านอื่น ระดับทักษะแรงงาน หรือความยืดหยุ่นของระบบการเงิน ผลสำรวจที่ปรากฎในรายงานฉบับนี้กระตุ้นให้เกิดการอภิปรายเชิงนโยบายทั่วโลก และทำให้เกิดงานวิจัยเกี่ยวกับกฎระเบียบภาคธุรกิจที่มีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ รายงานนี้ได้จัดพิมพ์ต่อเนื่องทุกปีเป็นปีที่ 11 ซึ่งครอบคลุม 189 ประเทศ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน Doing Business สามารถอ่านได้ที่เว็บไซต์ www.doingbusiness.org ท่านสามารถติดตามข่าวสารเราได้ที่ https://www.facebook.com/DoingBusiness.org
เกี่ยวกับกลุ่มธนาคารโลก
กลุ่มธนาคารโลกเป็นองค์กรที่มีแหล่งทุนและความรู้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยประกอบด้วย 5 สถาบันที่ทำงานอย่างใกล้ชิดได้แก่ ธนาคารระหว่างประเทศว่าด้วยการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development - IBRD) และ สหพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Association - IDA) ซึ่งรวมเรียกว่า ธนาคารโลก อีก 3 องค์กรได้แก่ บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation - IFC) สถาบันประกันการลงทุนแบบพหุภาคี (Multilateral Investment Guarantee Agency - MIGA) และ ศูนย์ระงับข้อพิพาททางการลงทุนระหว่างประเทศ (International Centre for Settlement of Investment Disputes - ICSID) โดยแต่ละองค์กรมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในการร่วมทำงานกันเพื่อพันธกิจในการแก้ไขความยากจนและปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรา สามารถอ่านได้ที่ www.worldbank.org www.miga.org และ www.ifc.org