กรุงเทพฯ – 25 เมษายน 2556 – รายงานของธนาคารโลกเรื่อง การประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาล (The Corporate Governance Report of the Observance of Standards and Codes – CG ROSC) ได้ประเมินบรรษัทภิบาลตลาดทุนไทยปี 2556 พบว่าตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่ดีในการยกระดับบรรษัทภิบาล และเป็นผู้นำในภูมิภาคโดยได้คะแนนสูงในทุกเรื่องที่สำคัญ ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถือหุ้นที่มิใช่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพิ่มความเป็นมืออาชีพให้กับคณะกรรมการบริษัท และยกระดับความโปร่งใสของกิจการ อย่างไรก็ดี ตลาดทุนไทยยังสามารถปรับปรุงการดำเนินการด้านบรรษัทภิบาลได้อีกหลายด้านเพื่อให้ทัดเทียมสากลมากยิ่งขึ้น ดังนี้
- การยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจและปรับปรุงบทบาทภาครัฐในฐานะเจ้าของให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การส่งเสริมความเป็นอิสระและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต) และธนาคารแห่งประเทศไทย
- การปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อผู้เล่นในตลาด
- การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในส่วนที่เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มบทบาทของ ก.ล.ต. ในเรื่องดังกล่าว
- การมีมาตรการให้บริษัทจดทะเบียนปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีตามมาตรฐานสากล (International Financial Reporting Standards - IFRS) อย่างเต็มรูปแบบและเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน รวมทั้งข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน
- การกำหนดแนวทางให้ชัดเจนเพื่อสร้างความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชีและการดำเนินงานของตัวกลางในตลาดทุนและการเสริมสร้างให้คณะกรรมการบริษัทมีความเป็นอิสระ
- การดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความเป็นอิสระและประสิทธิผล
การประเมินผลบรรษัทภิบาลในครั้งนี้ ตลาดทุนไทยได้คะแนน 82.83 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยได้คะแนนสูงสุดในหมวดการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ซึ่งธนาคารโลกเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลในรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนโดยทั่วไปเป็นไปตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่ทำให้ผู้ลงทุนรับทราบได้หลายช่องทางและในเวลาที่เหมาะสม นอกจากการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับปรุงด้านบรรษัทภิบาลแล้วนั้น ตลาดทุนไทยยังได้ปรับปรุงประเด็นสำคัญอื่นๆ อีกหลายประการ อาทิ การกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น และการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการบริษัท เป็นต้น
นายเดวิด โรบิแนท ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการพัฒนาภาคเอกชน ธนาคารโลก กล่าวว่า “ผลการประเมินในครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นผู้นำด้านบรรษัทภิบาลในภูมิภาคเอเชียและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องส่งเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้สูงขึ้น เพื่อที่จะรักษาความเป็นผู้นำดังกล่าวไว้”
นายคอนสแตนติน ชิโคซี่ รักษาการผู้อำนวยการ ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและพยายามในการปฏิรูปบรรษัทภิบาลตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อมุ่งไปสู่มาตรฐานสากล อันที่จริงแล้วประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการยกระดับบรรษัทภิบาลโดยรวม สมควรให้เป็นที่ยอมรับและดำเนินการอย่างต่อเนื่องไป”
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า “ผลการประเมินของปี 2556 เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงบรรษัทภิบาลของตลาดทุนไทยที่ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเกิดจากความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขกฎหมาย กฎเกณฑ์ และปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการของตลาดทุนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นความสำเร็จได้อย่างแท้จริง หากทุกฝ่ายร่วมปรับปรุงและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางอีกหลายด้านให้ดีขึ้นไปอีก เป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนยิ่งขึ้น โดยใช้ความมุ่งมั่นและความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ตลาดทุนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ CG ROSC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 นับเป็นความท้าทายสำคัญในการยกระดับบรรษัทภิบาล ของตลาดทุนไทยให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งการส่งเสริมและพัฒนาบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนนั้นเป็นนโยบายหลักที่สมาคมฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนไทยมีการพัฒนาไปมากจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ผลจากการประเมิน CG-ROSC ที่ดีในครั้งนี้เป็นผลจากความทุ่มเทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทจดทะเบียนที่เห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว และจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อบริษัทจดทะเบียนในการนำข้อเสนอแนะของธนาคารโลกไปใช้ในการปรับปรุงจุดอ่อน พัฒนาจุดแข็งให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”
ธนาคารโลกร่วมกับ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินการยกระดับบรรษัทภิบาลตลาดทุนไทยตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง