วอชิงตัน 12 มิถุนายน 2555 - ประเทศกำลังพัฒนาควรจะเตรียมตัวรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานโดยหันกลับมาให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะกลาง และในขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ธนาคารโลกกล่าวในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลก (Global Economic Prospects - GEP) ฉบับเดือน มิถุนายน 2555 ที่เปิดตัวในวันนี้
สถานการณ์ความตึงเครียดทางด้านเศรษฐกิจในประเทศที่มีรายได้สูงในทวีปยุโรปได้เริ่มผ่อนคลายลงในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ โดยดูจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและในประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับพฤติกรรมนักลงทุนที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นมา ความตื่นตระหนกในตลาดการเงินได้แพร่กระจายไปทั่ว ตลาดหุ้นของทั้งประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วปรับตัวลดลงร้อยละ 7 หรือคิดเป็นการลดลงประมาณ 2 ใน 3 ของรายได้ที่ได้มาจากสี่เดือนที่ผ่านมา ราคาสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ราคาน้ำมันดิบและทองแดงลดลงร้อยละ 19 และ 14 ตามลำดับ ในขณะที่ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ เงินทุนต่างประเทศได้ถูกย้ายไปลงทุนกับสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลประเทศเยอรมัน และสหรัฐฯ
จนถึงขณะนี้ สภาวะการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่ได้ย่ำแย่ลงมากเท่ากับไตรมาสที่สี่ของปี 2554 ที่ผ่านมา อัตราการแลกเปลี่ยนกรณีการผิดชำระหนี้ซึ่งป็นตัวชี้วัดความคิดของนักลงทุนที่มีต่อสภาพตลาดของประเทศกำลังพัฒนา ไม่นับรวมทวีปยุโรป เอเชียกลางและตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าความระดับที่เคยสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2554
“ตลาดทุนของโลกและทัศนคติของนักลงทุนที่มีต่อสภาพตลาดมีความเป็นไปได้ที่จะคงความผันผวนในระยะกลาง ส่งผลให้การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศกำลังพัฒนาควรจะมุ่งเน้นการปฏิรูปการเพิ่มผลิตภาพและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มากกว่าที่จะรอตั้งรับตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสภาวะการณ์เศรษฐกิจโลกแบบวันต่อวันต่อวัน” นายฮานส์ ทิมเมอร์ ผู้อำนวยการแผนกคาดการณ์การพัฒนาศรษฐกิจของธนาคารโลก กล่าว
ความผันผวนที่มากขึ้นจะเพิ่มปัจจัยต้านที่มีอยู่แล้วต่อเศรษฐกิจทั้งจากเรื่องการตัดลดงบประมาณรายจ่าย การตัดสัดส่วนหนี้สินของภาคธนาคาร และข้อจำกัดด้านความสามารถในการพัฒนาประเทศ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารโลกจึงคาดการณ์ว่าการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาจะชะลอตัวลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.3 ในปี 2555 ก่อนที่จะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งในปี 2556 และ 2557 ในอัตราร้อยละ 5.9 และ 6.0 ตามลำดับ ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้สูงจะลดลงร้อยละ 1.4, 1.9, และ 2.3 ในปี 2555 2556 และ 2557 ตามลำดับ โดยรวม ผลผลิตมวลรวมของโลก (GDP) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5, 3.0, 3.3 ตามลำดับในช่วงปี 2555-2557
การประเมินสถานการณ์ภายใต้สมมติฐานปกติข้างต้นคาดว่าน่าจะเป็นไปได้สูง อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย หากสถานการณ์ในยุโรปทวีความรุนแรงขึ้น สถานการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาในยุโรปและเอเชียกลางมีความเปราะบางเป็นพิเศษเนื่องจากมีการค้าระหว่างประเทศและการเงินที่ผูกติดกับประเทศที่มีรายได้สูงในทวีปยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกก็ต้องรับผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งเงินกลับประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ หรือประเทศที่มีหนี้ระยะสั้นเป็นจำนวนมาก
“ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องเลือกใช้นโยบายเพื่อลดความเสี่ยงลงโดยการปรับลดหนี้ระยะสั้น อาทิ การลดการขาดดุลของงบประมาณ และกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เป็นกลางมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายได้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเลวร้ายลงมาก” นายแอนดรูว์ เบิร์นส์ ผู้จัดการของแผนกเศรษฐศาสตร์มหภาค และผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้
ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มและข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.worldbank.org/globaloutlook
บทสรุปของภูมิภาค
ท่านสามารถอ่านรายงานการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้ที่ www.worldbank.org/globaloutlook
การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิกมีแนวโน้มลดลง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของภูมิภาคลดไปอยู่ที่ร้อยละ 8.3 ในปี 2554 จากร้อยละ 9.7 ในปี 2553 สถานะทางการเงินของโลกที่แย่ลงคาดว่าจะทำให้มีแรงต้านสูงขึ้นไปอีก อุปสงค์ที่ลดลงจากประเทศที่มีรายได้สูง และการชะลอตัวลงของจีน ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอยู่ที่ร้อยละ 7.6 ในปี 2555 ก่อนที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมซึ่งจะช่วยการเพิ่มยอดการส่งออกและการเติบโตให้กับภูมิภาคเป็นร้อยละ 8.1 ในปี 2556 และลดลงไปเป็นร้อยละ 7.9 ในปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีนคาดว่าจะโตขึ้นเป็นร้อยละ 8.2 ในปี 2555 และ ร้อยละ 8.4 ในปี 2555
ถึงแม้ว่าประเทศในกลุ่มยุโรปจะประสบกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในไตรมาสที่สี่ในปี 2554 ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแรง (ร้อยละ 5.6) ในปี 2554 จากอุปสงค์ภายในประเทศที่เข้มแข็ง และผลผลิตทางการเกษตรที่ดีในประเทศเช่น รัสเซีย โรมาเนีย และตุรกี อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่เลวร้ายเมื่อต้นปี 2555 รวมทั้งข้อจำกัดด้านขีดความสามารถในบางประเทศ การลดสัดส่วนหนี้สินของธนาคารยุโรป และความวุ่นวายระลอกใหม่ในประเทศรายได้สูงในยุโรป ทำให้คาดการณ์ว่าจะส่งผลชะลอของเศรษฐกิจในภูมิภาคเป็นร้อยละ 3.3 ในปีนี้ ก่อนที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะเริ่มฟื้นตัวจากรายได้ที่ได้สู่ระดับขึ้นเป็นร้อยละ 4.1 และ 4.4 ในปี 2556 และ 2557 ตามลำดับ
การเติบโตในภูมิภาคลาตินอเมริกาและคาริบเบียนลดลงเป็นร้อยละ 4.3 ในปี 2554 จากร้อยละ 6.1 ในปี 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงที่ชัดเจนของกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าในภูมิภาค ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศบราซิลลดลงอย่างมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ใน 2554 (จากร้อยละ 7.5 ใน 2553) เนื่องจากการเติบโตของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนลดต่ำลง การคาดการณ์ในระยะสั้นภูมิภาคนี้จะต้องประสบปัญหาของการมีอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอ และมีข้อจำกัดในขีดความสามารถในบางประเทศ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของภูมิภาคคาดว่าจะลดลงเป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2555 และปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.1 และ 4.0 ในปี 2556 และ 2557 ตามลำดับ ในขณะที่การเติบโตของบราซิลเศรษฐกิจคาดว่าจะต่ำกว่าศักยภาพที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2555 ก่อนที่จะปรับตัวกลับมาในระดับสูงไปเป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2556 และ 3.9 ในปี 2557
ความไม่แน่นอน ความผันผวน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยังคงเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสภาวะการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของภูมิภาคขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1 ในปี 2554 ลดลงมากจากร้อยละ 3.8 ในปี 2553 การเติบโตภายในภูมิภาคคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ในปี 2555 ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในประเทศอิหร่าน และการลดลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของซิเรียและเยเมนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามหากผลกระทบของปัจจัยเหล่านี้ลดลง การเติบโตของภูมิภาคน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.2 ในปี 2556 และร้อยละ 3.4 ในปี 2557 เศรษฐกิจของอิยิปต์คาดว่ากำลังจะกลับมาเป็นบวกที่ร้อยละ 1.4 ในปี 2555 และเพิ่มเป็นร้อยละ 4.6 ในปี 2557 ประเทศจอร์แดนและเลบานอนก็คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ราคาน้ำมันซึ่งคาดว่าราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 107 เหรียญสหรัฐฯต่อบาเรลในปี 2555 ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกน้ำมันในภูมิภาคได้รับประโยชน์อย่างมาก
การเติบโตในภูมิภาคเอเชียใต้ลดลงเป็นร้อยละ 7.1 ในปี 2554 จากร้อยละ 8.6 ในปี 2553 เนื่องจากกระแสของวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศในทวีปยุโรปทำให้การส่งออกชะลอตัวอย่างฉับพลันและการย้อนไหลของเงินลงทุนต่างชาติ การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียถือว่าอ่อนแอเป็นอย่างมากเนื่องจากนโยบายการเงิน การปฏิรูปที่ชะงักลง การขาดแคลนไฟฟ้า รวมทั้งความกังวลเรื่องการคลังและเงินเฟ้อส่งผลให้การลงทุนลดลง ความไม่แน่นอนของนโยบาย การขาดดุลการคลัง เงินเฟ้อเกินเป้า และช่องว่างในโครงสร้างพื้นฐานจะส่งผลเสียในกิจกรรมการลงทุน และคาดว่าจะจำกัดการเติบโตในภูมิภาคอยู่ที่ระดับปานกลางประมาณร้อยละ 6.4 ในปี 2555 และ 6.5 ในปี 2556 และ 6.7 ในปี 2557 การเติบโตของอินเดีย (วัดโดยใช้ต้นทุนปัจจัยการผลิต)จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.9, 7.2 และ 7.4 ในปีงบประมาณ 2555-56, 2556-57, 2557-58 ตามลำดับ
ประเทศบริเวณภูมิภาคซับซาฮาราแอฟริกามีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 4.7 ในปี 2554 หากไม่รวมประเทศแอฟริกาใต้ การเติบโตของประเทศในภูมิภาคนี้จะโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นที่ร้อยละ 5.6 ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในภูมิภาคกำลังพัฒนาที่เติบโตเร็วที่สุด ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคที่ได้รับการปรับปรุง และความมั่นคงทางการเมืองในปีที่ผ่านมานี้ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทางภาคเอกชนมากขึ้นในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีความหวังในระยะกลางอีกด้วย ในขณะที่อุปสงค์ของโลกเพิ่มมากขึ้น อุปสงค์ภายในยังคงแข็งแรงอยู่ การเติบโตในภูมิภาคก็คาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้นเป็นร้อยละ 5 ในปี 2555 ร้อยละ 5.3 ในปี 2556 ร้อยละ 5.2 ในปี 2557