ข่าวประชาสัมพันธ์

ความเสี่ยงจากอุทกภัยในเขตเมืองในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเพิ่มสูง

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555




ธนาคารโลกเสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความสูญเสีย

โตเกียว 13 กุมภาพันธ์ 2555 - คู่มือฉบับใหม่ของธนาคารโลกที่เผยแพร่ในวันนี้ชี้ปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองเป็นสิ่ง ท้าทายการพัฒนาสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากขึ้น คู่มือฉบับนี้ย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องผนวกการจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมเข้าไว้ในการวางแผนเมืองทั้งใหญ่และเล็ก

คู่มือ “เมืองและอุทกภัย: คู่มือเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยในเขตเมืองแบบบูรณาการสำหรับศตวรรษที่ 21” ฉบับนี้ได้แนะแนวทางปฏิบัติการในการจัดการความเสี่ยงเรื่องอุทกภัยในภาวะที่เมืองกำลังมีการขยายตัว และมีประชากรเพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพภูมิอากาศโลกที่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

“การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมเมืองก่อให้เกิดย่านชุมชนผู้มีรายได้ต่ำ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม  ขาดแคลนสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ รวมถึงบริการทางภาครัฐอื่น ๆ  ซึ่งทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุด โดยเฉพาะเด็กและสตรี”  นางพาเมลา คอกซ์ รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว  “ทว่าการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วก็ยังหมายถึงว่า เรามีโอกาสที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อที่เมืองทั้งใหญ่และเล็กจะสามารถสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อรักษาชีวิตผู้คนและประหยัดงบประมาณไว้ได้”

อุทกภัยเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าภัยพิบัติอื่นๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกรวมถึงเอเชียใต้นั้นมีโอกาสเกิดน้ำท่วมมากเป็นพิเศษ  ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจำนวนครั้งของการเกิดน้ำท่วมในเอเชียสูงถึงร้อยละ 40 ของจำนวนครั้งของการเกิดน้ำท่วมทั่วโลก ประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 90 ที่ได้เผชิญกับภาวะน้ำท่วมอาศัยอยู่ในเอเชีย

ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคกำลังเปลี่ยนผ่านไปเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่ การกระจุกตัวของประชากรและทรัพย์สินในเมืองทำให้ปัญหาอุทกภัยในเขตเมืองเป็นเรื่องที่ยากและมีค่าใช้จ่ายในการจัดการมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากความเสียหายโดยตรงทางเศรษฐกิจแล้ว อุทกภัยยังมีผลกระทบต่อเนื่องระยะยาวอีกด้วย เช่น การสูญเสียโอกาสการศึกษา โรคภัยไข้เจ็บที่มากับน้ำท่วม และภาวะทุโภชนาการ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้อาจจะส่งผลบั่นทอนเป้าหมายการพัฒนาได้

คู่มือนี้ชี้ว่าวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการบริหารความเสี่ยงจากอุทกภัยคือ แนวทางแบบบูรณาการซึ่งประกอบด้วยมาตรการเชิงโครงสร้างและมาตรการอื่น ๆ

ตัวอย่างเช่น

  • การสร้างช่องทางระบายน้ำและฟลัดเวย์ (Floodways)
  • การผนวกรวมแนวทาง “การจัดให้มีพื้นที่สีเขียวในเมือง (Urban Greening)” อาทิ พื้นที่ชุ่มน้ำ  และแนว กันชนทางสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วย
  • การสร้างระบบเตือนภัยน้ำท่วม
  • การวางแผนการใช้ที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วม

คู่มือได้แนะว่าหัวใจสำคัญก็คือต้องสร้างความสมดุลย์ให้เหมาะสม  แม้ว่าโครงสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จะมีประสิทธิภาพหากใช้อย่างเหมาะสม แต่ก็อาจจะไม่สามารถต้านทานภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงได้  นอกจากนี้สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นอาจโอนถ่ายความเสี่ยงจากอุทกภัยโดยการลดความเสี่ยงในพื้นที่หนึ่งแต่ไปเพิ่มความเสี่ยงในอีกพื้นที่ก็ได้

การจะดำเนินการแผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการนี้ให้มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลระดับต่าง ๆ หน่วยงานในภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ตลอดจนต้องอาศัยการตัดสินใจอย่างทันท่วงทีและเด็ดขาดจากรัฐบาลทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

มีเครื่องมืออยู่หลายอันที่จะช่วยให้เราเข้าใจความเสี่ยงและภัยของน้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น  ระบบพยากรณ์น้ำท่วมทางอินเตอร์เนตเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลทางอุทกศาสตร์และอุตุอุทกนิยมวิทยาไปยังผู้คนหลากหลายกลุ่ม  การทำแผนที่ความเสี่ยงและโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจะมีประโยชน์อย่างมากในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อคุ้มครองประชาชน

ตัวอย่างเช่น ธนาคารโลกกำลังทำงานร่วมกับภาคีพันธมิตรเพื่อสนับสนุนการให้บริการพยากรณ์อากาศในลุ่มน้ำแม่โขงตอนล่างซึ่งจะช่วยให้เมืองต่าง ๆ ในเวียดนามและอินโดนีเซียวางแผนระยะปานกลางในการรับมือภัยธรรมชาติที่คำนึงถึงความไม่แน่นอนจากความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้

นอกจากนี้ การสื่อสารมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความตระหนักและช่วยเสริมการเตรียมพร้อมในการรับมืออุทกภัย  คู่มือระบุว่าคนส่วนใหญ่ลืมภัยพิบัติที่ไม่รุนแรงนักภายใน 3 ปี

เนื่องจากเราไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมให้หมดไปได้โดยสิ้นเชิงจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนเพื่อการฟื้นฟูที่รวดเร็ว และใช้การฟื้นฟูและบูรณะเป็นโอกาสในการสร้างชุมชนที่ปลอดภัยและเข้มแข็งยิ่งขึ้นที่มีศักยภาพในการรับมือกับอุทกภัยได้ดีขึ้นในอนาคต

“ภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ เช่น สึนามิและแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย และออสเตรเลียย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือแบบใหม่” นายอาบาซ จาฮ์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองและหัวหน้าโครงการการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของคู่มือกล่าวว่า  “เราจะต้องออกแบบระบบที่คำนึงถึงลักษณะความซับซ้อน ความไม่แน่นอน และผลกระทบของการจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม การออกแบบนี้จะต้องคลอบคลุมทุกด้าน มีความยืดหยุ่น และเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพการโดยต้องระวังที่จะไม่พึ่งพาทางออกทางใดทางหนึ่งมากเกินไป  เพราะอาจจะไม่เพียงพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา”

คู่มือฉบับนี้จัดทำขึ้นด้วยการสนับสนุนทางการเงินจาก Global Facility for Disaster Reduction and Recovery (GFDRR) และภาคีพันธมิตรในการจัดทำ รวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA)

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน โตเกียว
Carl Hanlon
โทร: (202) 460-8526
chanlon@worldbank.org
Tomoko Hirai
โทร: +81-3(3597)6650
thirai@worldbank.org
ใน วอชิงตัน
Chisako Fukuda
โทร: (202) 473-9424
cfukuda@worldbank.org


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2012/271/EAP

Api
Api

Welcome