วันที่ 7 มิถุนายน 2554 ณ กรุงวอชิงตัน – รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ฉบับเดือนมิถุนายน ปี 2554 ของธนาคารโลกกล่าวว่าขณะที่ประเทศกำลังพัฒนากำลังก้าวข้ามวิกฤตทางการเงิน ประเทศเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการประเด็นท้าทายของแต่ละประเทศ อาทิ การปฎิรูปโครงสร้างเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล การรับมือกับสภาวะเงินเฟ้อ และการจัดการกับภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูง
ในทางตรงกันข้าม ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้สูงและของหลายประเทศกำลังพัฒนาในยุโรปยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดจากวิกฤตทางการเงิน เช่น อัตราการว่างงานสูง การจำกัดการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน การลดการใช้จ่ายของภาคธนาคาร ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางการคลัง และปัจจัยอื่นๆ
ธนาคารโลกประมาณการว่า หากประเทศกำลังพัฒนาสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงจากร้อยละ 7.3 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 6.3 ต่อปี ระหว่างปี 2554-2556 ในขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้สูงจะลดลงจาก ร้อยละ 2.7 ในปี 2553 เป็น ร้อยละ 2.2 ในปี 2554 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.7 และ 2.6 ในปี 2555 และปี 2556 ตามลำดับ
“โดยรวมแล้ว เป็นที่คาดว่า GDP1 ของเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 3.2 ในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ในปี 2555” นายจัสติน ยีฟู ลิน หัวหน้านักเศรษฐกรและรองประธานอาวุโสฝ่ายการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าว “แต่ทว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและอาหารที่สูงอยู่แล้วจะส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำร้ายคนจน”
ภัยพิบัติที่ผ่านมาในญี่ปุ่นและความวุ่นวายทางการเมืองในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ จะอยู่ในระดับปานกลาง โดยคาดว่า GDP ของญี่ปุ่นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในปี 2554 ในขณะที่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ประเทศที่คาดว่าจะมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในปี 2554 คือ ประเทศอียิปต์ (ร้อยละ 1) ประเทศตูนิเซีย (ร้อยละ 1.5) และลิเบีย2 ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่นอน คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งอียิปต์ และตูนิเซีย จะเพิ่มขึ้นในปี 2555 โดยจะมีค่าใกล้ร้อยละ 5 ในปี 2556
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ได้ส่งผลให้เกิดประเด็นท้าทายใหม่ ๆ ของโลก อาทิ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และความเป็นไปได้ของการไหลเข้าของเงินทุนจำนวนมากที่เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของประเทศเหล่านั้น
“เหล่าประเทศกำลังพัฒนาได้แสดงออกถึงความแข็งแกร่งแม้ว่ายังจะมีความตรึงเครียดทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีรายได้สูง” นายฮานส์ ทิมเมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายทิศทางการพัฒนาของธนาคารโลก กล่าว “แต่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศกำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็ว และมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในแถบเอเซีย และอเมริกาใต้ ทั้งนี้ แม้ว่านโยบายทางการเงินจะมีการปรับตัวแล้ว แต่นโยบายทางการคลังและอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ”
อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้เพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบร้อยละ 7 ในเดือนมีนาคม ปี 2554 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งมีค่ามากกว่าในเดือนกรกฎาคม ปี 2552 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดถึงร้อยละ 3 ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อของประเทศที่มีรายได้สูงก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.8 ในเดือนมีนาคม ปี 2554 ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มากที่สุดนั้น อยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออก ภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดทางด้านกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก และสภาวะราคาอาหารแพงในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ราคาน้ำมันที่สูงและการผลิตที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยได้ส่งผลให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อคนจนซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของรายได้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามแม้ว่าราคาอาหารในประเทศของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ปรับตัวสูงขึ้นน้อยกว่าราคาอาหารโลกในช่วงวิกฤติทางด้านราคาอาหารระหว่างปี 2553-2554 (ร้อยละ 7.9 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 เมื่อเทียบกับร้อยละ 40 ของราคาในตลาด) ทั้งนี้ ราคาอาหารในประเทศอาจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้อีกเมื่อราคาอาหารโลกถูกส่งผ่านไปยังราคาในประเทศ นอกจากนี้ หากผลผลิตทางการเกษตรในปี 2554-2555 น้อยกว่าที่คาด จะส่งผลให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะรายได้ การได้รับสารอาหาร และภาวะสุขภาพของครัวเรือนที่ยากจน
“สำหรับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ วิกฤตทางการเงินได้สิ้นสุดลงแล้ว“ นายแอนดรู เบินส์ ผู้จัดการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคระดับโลก และผู้เขียนหลักของรายงานฉบันนี้กล่าว “ในคณะนี้ควรให้ความสำคัญกับการปรับนโยบายทางการเงินให้เข้าสู่ระดับปกติ และการเสริมสร้างฐานะทางการคลัง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถรับมือกับวิกฤตทางการเงินด้วยนโยบายที่สวนทางกับวงจรเศรษฐกิจ ส่วนทิศทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางนั้น จะขึ้นอยู่กับการปฎิรูปทางสังคม กฎระเบียบ และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดการปรับปรุงทางด้านประสิทธิภาพการผลิต และการเติบโตอย่างยั่งยืน”
1 วัดค่าที่ราคาตลาด และอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2548 (หรือร้อยละ 4.8 ในปี 2553 ร้อยละ 4.3 ในปี 2554 ร้อยละ 4.4 ในปี 2555 และร้อยละ 4.5 ในปี 2556 เมื่อปรับค่าโดย ความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ)
2 ไม่สามารถหาข้อมูล GDP ที่น่าเชื่อถือของประเทศลิเบียได้ จึงไม่ได้รับการประมาณการ
ประเด็นสำคัญของแต่ละภูมิภาค
การเติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคาดว่าจะปรับตัวช้าลงแต่ยังคงรักษาระดับที่สูง การขยายตัวของ GDP จะลดลงจากร้อยละ 9.6 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 8.5 ในปี 2554 และประมาณร้อยละ 8.2 ในปี 2555-2556 และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและสินทรัพย์ภายในประเทศจะเป็นประเด็นท้าทายเชิงนโยบายในระยะปานกลาง โดยอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคนี้สูงถึงร้อยละ 5.3 ในเดือนเมษายน ปี 2554 ทั้งนี้ แนวทางนโยบายทางการเงินและการคลังที่เข้มงวดในปัจจุบัน คาดว่าจะส้งผลให้อัตราการเติบโตชะลอไปสู่อัตราที่มีความยั่งยืนมากขึ้น นอกจากนี้ ภูมิภาคนี้ได้ประสบความสำเร็จในการเพิ่มอุปสงค์ต่อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการเกินดุลการค้า ที่ปรับตัวจากร้อยละ 9.3 ของ GDP ในปี 2550 เป็นประมาณร้อยละ 3.6 ในปี 2554 และคาดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีความอย่างยั่งยืน
การขยายตัวของในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในยุโรปและเอเซียกลาง ได้ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับร้อยละ 5.2 ในปี 2553 หลังจากที่มีภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 6.5 ในปี 2552 ทั้งนี้ การขยายการให้กู้ที่จำกัด การปรับตัวทางด้านการใช้จ่ายของครัวเรือน และการปฎิรูปโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง (หลังจากช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากที่เป็นผลมากจากการปล่อยกู้ที่ไม่รัดกุม) คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของ GDP ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับร้อยละ 4.7 ในปี 2554 และร้อยละ 4.5 ในปี 2555 และ 2556 ทั้งนี้ ตัวเลขรวมเหล่านี้ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างประเทศที่ชัดเจนในภูมิภาคนี้โดยกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการปล่อยกู้ที่ไม่รัดกุมมากที่สุดจะเป็นประเทศที่มีการขยายตัวของ GDP ต่ำสุด ซึ่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจะสร้างรายได้ให้กับประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ในภูมิภาคนี้ส่งผลให้เกิดอุปสงค์ของการนำเข้าและการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการอพยพของแรงงาน
ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาและกลุ่มคาริบเบียน ได้ฟื้นตัวจากวิกฤตทางการเงิน และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในช่วง 30 ปี ที่ร้อยละ 6 ในปี 2553 โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวนี้จะชะลอตัวลงในปี 2554 ที่ร้อยละ 4.5 ก่อนที่จะปรับตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4 ในปี 2556 ซึ่งอัตราการเติบโตเหล่านี้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ การชะลอตัวดังกล่าว จะมีความเด่นชัดในประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (เช่น อาร์เจนตินาและบราซิล) ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานด้านนโยบายทางเศรษฐกิจที่เคร่งครัดที่ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลง โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มคาริบเบียนจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2554 เป็นร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐโดมินิกันและการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการฟื้นฟูประเทศของเฮติ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในแถบคาริบเบียนจะอยู่ในระดับไม่สูงมากนักเนื่องจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และการโอนเงินข้ามประเทศ ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกา (ยกเว้นเม็กซิโก) จะปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4 เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งส่งผลให้มีการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และการโอนเงินข้ามประเทศอย่างต่อเนื่อง
ภาวะความไม่สงบทางการเมืองในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อย่างมาก โดยภาคอุตสาหกรรมในอียิปต์และตูนิเซียปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 15 ในช่วงต้นปี 2554 ในขณะที่ในไตรมาศแรกของปี 2554 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใน 2 ประเทศนี้ มีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 45 โดยคิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 9 ของทั้งภูมิภาค (เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า) ทั้งนี้ แม้ว่าจะขาดความแน่นอน เศรษฐกิจของอียิปต์และตูนิเซียคาดว่าจะมีการขยายตัวร้อยละ 1 และร้อยละ 1.5 ในปี 2554 ตามลำดับ โดยเป็นที่คาดว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 5 ในปี 2556 ในขณะเดียวกัน ผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองต่อทั้งภูมิภาคนั้น อยู่ในระดับที่ไม่มากนัก โดยเป็นที่คาดว่าการขยายตัวของภูมิภาคจะอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ในปี 2554 และจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 4 ในปี 2556 เมื่อการไหลข้าวของเงินทุนและความมั่นใจของนักลงทุนกลับคืนมา
จากการที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงถึงร้อยละ 9.3 ในปี 2553 กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียใต้อยู่ในระดับปานกลางในช่วงไตรมาศแรกของปี 2554 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการชะลอตัวของการขยายตัวในระดับภูมิภาคเป็นร้อยละ 7.5 ในปี 2554 โดยการชะลอตัวนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มงวดในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อและการลดระดับการขาดดุลการคลัง ทั้งนี้ สภาวะทางการเงินที่เข้มงวดและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและน้ำมันจะส่งผลให้การขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนลดลง แต่ปัจจัยดังกล่าวนี้ ได้รับการชดเชยจากภาคส่งออกและการโอนเงินข้ามประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2555-2556 เป็นร้อยละ 7.9 ในปี 2556 โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวทางการลงทุนในอินเดีย ศรีลังกาและบังกลาเทศ ในขณะที่ปากีสถานและเนปาลคาดว่าจะปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยท้าทายทางการเมืองและปัญหาที่เกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาค
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแอฟริกาที่อยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราอยู่ที่ร้อยละ 4.7 ในปี 2553 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวในช่วงก่อนปี 2552 ที่ระดับร้อยละ 2 และเป็นระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตที่ร้อยละ 5 เพียงเล็กน้อย การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีนี้ เป็นผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ หากไม่นับแอฟริกาใต้ กลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก การขยายตัวของอุปสงค์จากชนชั้นกลางที่มีรายได้ในการใช้จ่าย และความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง GDP ในภูมิภาคนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงในระยะกลาง โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ในปี 2554 และร้อยละ 5.7 ปี 2555 และ 2556 ในขณะเดียวกัน การปรับตัวสูงขึ้นของราคาอาหารเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่ง โดยราคาอาหารในท้องถิ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.3 ในช่วง 12 เดือนก่อนหน้าเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554 โดยเป็นที่คาดว่าราคาจะคงยังปรับตัวสูงขึ้นอีกในปี 2554 แม้ว่าราคาตลาดโลกจะเริ่มทรงตัวแล้วก็ตาม เนื่องจากผลกระทบจากผลผลิตการเกษตรที่ดีในปี 2553 เริ่มจางหายไป