Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกชี้แผ่นดินไหวญี่ปุ่นจะมีผลจำกัดต่อเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและเพียงในระยะสั้น

วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554




สิงคโปร์ 21 มีนาคม 2554 –รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของภาคพื้นเอเชียตะวันออกซึ่งธนาคารโลกจัดพิมพ์เผยแพร่ในวันนี้ได้ระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งล่าสุดในญี่ปุ่นจะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศเพียงในระยะสั้น ทั้งนี้ธนาคารโลกคาดว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง หรือ real GDP ของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งแรกของปีนั้นจะเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่จะเริ่มเร่งตัวขึ้นหลังจากการบูรณะซ่อมแซมส่วนที่เสียหายเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในราวกลางปี แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่สามารถประมินความเสียหายทั้งมวลได้ แต่ประสบการณ์ของญี่ปุ่นในอดีตก็ทำให้เชื่อว่าการลงทุนเพื่อบูรณะฟื้นฟูความเสียหายนั้นจะมีมูลค่ามหาศาล และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกโดยรวมน่าจะมีจำกัดและคงอยู่เพียงในระยะสั้น

รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า East Asia and Pacific Update เป็นรายงานที่ธนาคารโลกจัดทำขึ้นปีละสองครั้ง โดยรายงานฉบับล่าสุดซึ่งมีกำหนดนำออกเผยแพร่ในเดือนมีนาคมศกนี้เป็นรายงานที่ธนาคารโลกจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่นำมาแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่หลังจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิบังเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม เพื่อให้การวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกนั้นสอดคล้องกับสถานการณ์ในภูมิภาคมากที่สุด

ในรายงานฉบับดังกล่าว ธนาคารโลกได้นำเสนอบทวิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบที่ภัยพิบัติในญี่ปุ่นจะมีต่อเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกโดยรวม อันเป็นการวิเคราะห์ผ่านมุมมองของการค้าและการเงินระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า สถานการณ์ในญี่ปุ่นนั้นยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ วิกฤตินิวเคลียร์ของญี่ปุ่นที่ยังไม่สามารถคลี่คลายไปได้ด้วยดีนั้นก็อาจสร้างปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นได้อีกในอนาคต

"ความสำคัญของญี่ปุ่นต่อเอเชียตะวันออกนั้นมีมหาศาล จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคด้วย แต่ตอนนี้ยังเร็วเกินกว่าที่เราจะประเมินความเสียหายทั้งหมดได้อย่างถูกต้อง" นายวิกรม เนห์รู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกให้ความเห็น “ณ เวลานี้ เราคาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคจะมีเพียงในระยะสั้น โดยในอนาคตอันใกล้ ผลกระทบที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นผลกระทบต่อการค้าและการเงินระหว่างประเทศ แต่หลังจากนั้น เราคาดว่าการลงทุนเพื่อบูรณะฟื้นฟูบริเวณที่ได้รับความเสียหายจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี"

ในด้านการค้า เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมืองโกเบเมื่อพ.ศ. 2538 ก็จะพบว่า การค้าของญี่ปุ่นได้ชะลอตัวในเพียงไม่กี่ไตรมาสหลังภัยพิบัติเกิดขึ้น ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีให้หลัง การนำเข้าของญี่ปุ่นก็ฟื้นตัวอย่างเต็มที่เกือบ 100% ขณะที่การส่งออกก็สามารถดีดตัวกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 85 ของระดับที่เคยเป็นก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะเกิด อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเครือข่ายการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ในครั้งนี้ก็อาจสร้างปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้

ในด้านการเงิน ประมาณหนึ่งในสี่ของหนี้สาธารณะในเอเชียตะวันออกเป็นหนึ้ในสกุลเงินเยน โดยมีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 8 ในประเทศจีนถึงร้อยละ 60 ของหนี้ต่างประเทศที่รัฐบาลไทยเป็นผู้กู้ เท่ากับว่า หากเงินเยนของญี่ปุ่นปรับตัวแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 1 ของอัตราในปัจจุบัน จำนวนหนี้สาธารณะในสกุลเยนซึ่งรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ในภูมิภาคจะต้องหามาใช้คืนก็จะเพิ่มขึ้นทันที 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เมื่อมองย้อนกลับไปยังปีที่เพิ่งผ่าน รายงานของธนาคารโลกก็ชี้ให้เห็นว่าผลผลิตของเอเชียตะวันออกในปี 2553 นั้นเติบโตอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายมาก โดยเฉลี่ยแล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงของทั้งภูมิภาคได้ขยายตัวในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 9.6 อีกทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกในปีที่ผ่านมาก็ยังเป็นปรากฎการณ์ที่ค่อนข้างครอบคลุม โดยมีเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภาคพื้นเอเชียตะวันออกทั้งสิ้นหกประเทศด้วยกันที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 7 หรือสูงกว่า อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคยังนำมาตรการการเงินการคลังมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาวะที่ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นกว่าในปีก่อนหน้า สำหรับในปีนี้และปี 2555 นั้น ธนาคารโลกคาดว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงของทั้งภูมิภาคโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 8

อย่างไรก็ตามธนาคารโลกยังได้เตือนด้วยว่า สภาวะการณ์ด้านเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกในปี 2554 น่าจะลดความร้อนแรงลงบ้าง เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อจะกลายมาเป็นปัญหาเร่งด่วนในระยะสั้นสำหรับผู้มีส่วนรับผิดชอบด้านนโยบายในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศรายได้ปานกลางทั้งหลาย การบรรเทาภาวะเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากแต่ละประเทศยังต้องรับมือกับเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลเพื่อหากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย ในขณะเดียวกัน ราคาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ก็ยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาระในการปรับตัวนั้นจึงน่าจะไปตกอยู่กับนโยบายทางการเงินเป็นหลัก โดยสิ่งที่จะท้าทายความสามารถของทางการมากที่สุดน่าจะเป็นการลดการขาดดุลงบประมาณอย่างมีนัยยะสำคัญ ในขณะที่ยังต้องจัดสรรงบประมาณมาใช้สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งในการลงทุนด้านสังคมที่จำเป็น และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงต่อประชากรผู้ยากไร้ด้วย

เกี่ยวกับแนวโน้มด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะกลางและระยะยาว ธนาคารโลกได้ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลของเอเชียตะวันออกจะนำโอกาสใหม่ ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ และต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจของตนสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในญึ่ปุ่นนั้นเปรียบเสมือนเครื่องเตือนความจำให้ทุกฝ่ายได้รำลึกว่าปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกนั้นก็คือความเปราะบางต่อภัยธรรมชาติของภูมิภาคนั่นเอง จากสถิติที่มีอยู่นั้น พื้นผิวดินของเอเชียตะวันออกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงครึ่งหนึ่งของพื้นผิวโลกโดยรวม นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังเป็นถิ่นพำนักอาศัยของ ร้อยละ 59 ของประชากรโลกทั้งหมด ในขณะที่ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในภูมิภาคคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 70 ของภัยธรรมชาติทั่วโลก นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเมืองใหญ่แต่ละเมืองของเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นทั้งแหล่งรวมตัวของประชากรและแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้น จึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมหาศาลจากภาวะอากาศแปรปรวน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ อันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับรัฐบาลของแต่ละประเทศในภูมิภาคที่จะเร่งหามาตรการต่าง ๆ มาสนับสนุนความพยายามที่จะทำให้เมืองสำคัญ ๆ ของตนสามารถต้านรับภัยธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนคงทน และปรับตัวให้เข้ากับผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ในขณะที่ความสำคัญของเอเชียตะวันออกต่อเศรษฐกิจโลกกำลังทวีขึ้นเรื่อย ๆ มีความจำเป็นที่ภูมิภาคนี้จะต้องยอมรับความรับผิดชอบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน "เอเชียตะวันออกจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องหากภูมิภาคนี้ไม่ลังเลที่จะตัดสินใจทำในสิ่งที่ยากแต่จะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคในระยะยาว ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจโลกยังค่อนข้างผันผวนอยู่" นายวิกรมให้ความเห็น "ขณะเดียวกัน การเร่งหาวิธีให้เศรษฐกิจของภูมิภาคหล่อหลอมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการทำให้การผลิตและการบริโภคในภูมิภาคนั้นเป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับต่ำ ก็เป็นปัญหาในระยะกลางที่ภูมิภาคนี้จำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขเช่นกัน”

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน สิงคโปร์
ชิซาโกะ ฟูกุดะ
โทร: +65 85764533
cfukuda@worldbank.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
EAP

Api
Api

Welcome