Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ได้ฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจและคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อ

วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554




กรุงวอชิงตัน 12 มกราคม 2554 เศรษฐกิจโลกกำลังเคลื่อนตัวจากช่วงแห่งการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังวิกฤตเข้าสู่ช่วงการเติบโตที่ช้าลงแต่ว่ายังมั่นคงอยู่ในช่วงปีนี้กับปีหน้า โดยที่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นศูนย์กลางแห่งอัตราการเติบโตกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก จากการประเมินลู่ทางเศรษฐกิจโลกโดยธนาคารโลกในรายงานฉบับล่าสุดชื่อ Global Economic Prospects 2011

ธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจโลก ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี พ.ศ. 2553 จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ในปี 2554 ก่อนที่ไต่ขึ้นไปที่ร้อยละ 3.6 ในปี 2555 ธนาคารโลกประเมินด้วยว่าประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตร้อยละ 7.0 ในปี 2553 และโตร้อยละ 6.0 ในปี 2554 กับร้อยละ 6.1 ในปี 2555 โดยที่อัตราการเติบโตในประเทศกำลังพัฒนาจะสูงกว่าอัตราในประเทศที่มีระดับรายได้สูง ซึ่งทางธนาคารโลกประเมินว่าจะเติบโตร้อยละ 2.8 ในปี 2553 กับร้อยละ 2.4 ในปี 2554 และร้อยละ 2.7 ในปี 2555

เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ได้กลับเข้าสู่ระดับรายได้ที่น่าจะเป็นถ้าวิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้น แม้จะมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะโตอย่างมั่นคงในปี 2555 แต่ว่าการฟื้นตัวในหลายประเทศของยุโรปกับเอเชียกลางยังคงไม่แน่นอน หากว่ารัฐบาลประเทศเหล่านั้นไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาในประเทศ เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวก็อาจถูกบั่นทอนด้วยปัญหาภาระหนี้สินครัวเรือนและการว่างงานที่สูง กับภาคที่อยู่อาศัยและธนาคารที่อ่อนแอ

“ถ้ามองในแง่ดี การเติบโตที่แข็งแกร่งจากอุปสงค์ภายในของประเทศกำลังพัฒนากำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ปํญหาในภาคการเงินในประเทศร่ำรวยหลายประเทศยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญและต้องการนโยบายที่ช่วยจัดการปัญหานี้อย่างเร่งด่วน,” นายจัสติน หลิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และรองประธานอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาแห่งธนาคารโลกกล่าว

มูลค่าหุ้นและพันธบัตรไหลเข้าสุทธิไปยังประเทศกำลังพัฒนาพุ่งขึ้นสูงมากในปี 2553 กล่าวคือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 และ 30 ตามลำดับ โดยมีประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 9 ประเทศได้รับเงินทุนไหลเข้ามูลค่ามหาศาล การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นในอัตราปานกลางที่ร้อยละ 16 ในปี 2553 ไปแตะที่ระดับ 410 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่ตกลงร้อยละ 40 ในปี 2552 ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของการฟื้นตัวด้านนี้คือการที่ประเทศกำลังพัฒนาไปลงทุนเพิ่มขึ้นกันเองในกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย

“กระแสเงินทุนโลกที่ไหลเวียนมากขึ้นช่วยเร่งการฟื้นตัวในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่” นายฮานส์ ทิมเมอร์ ผู้อำนวยการด้านแนวโน้มการพัฒนาแห่งธนาคารโลกกล่าว “อย่างไรก็ตาม กระแสเงินทุนที่หลั่งไหลเข้าไปยังประเทศใหญ่ที่มีรายได้ระดับปานกลางบางประเทศอาจนำพาความเสี่ยงมาด้วย และเป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวในระยะกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ค่าเงินแข็งขึ้นอย่างฉับพลัน หรือในกรณีที่เกิดภาวะฟองสบู่ของทรัพย์สิน”

ประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำส่วนใหญ่ได้อานิสงส์จากการค้าในปี 2553 และในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้เติบโตร้อยละ 5.3 ในปี 2553 โดยได้รับแรงหนุนจากการที่สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาสูงขึ้น กอปรกับรายได้จากการโอนเงินกลับประเทศและจากการท่องเที่ยว ธนาคารโลกประเมินแนวโน้มสำหรับกลุ่มประเทศเหล่านี้ว่าจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก โดยจะเติบโตขึ้นอีกร้อยละ 6.5 ในปี 2554 และ 2555

รายงานฉบับนี้ชี้ด้วยว่า ราคาอาหารที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบันจะส่งผลกระทบหลายประการ ในหลายประเทศ การที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง ได้ช่วยปรับปรุงเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ กับการที่สินค้าและบริการแพงขึ้นในหลายประเทศหมายความว่า ราคาอาหารยังคงไม่ได้สูงขึ้นเทียบเท่ากับราคาสินค้าอาหาร (เหรียญสหรัฐ) ที่ขายอยู่ในตลาดโลก

“อย่างไรก็ตาม การที่ราคาอาหารที่จำเป็นเพิ่มขึ้นในระดับตัวเลขสองหลักในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมากำลังสร้างแรงกดดันให้กับครัวเรือนในประเทศที่กำลังเผชิญกับภาระที่หนักอยู่แล้วในเรื่องความยากจนและการขาดอาหาร และถ้าหากว่าราคาอาหารโลกยังคงเพิ่มขึ้นอีกต่อไป ในทิศทางเดียวกันกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญอื่นๆ เราก็ไม่อาจมองข้ามความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดภาวการณ์ทำนองเดียวกันกับเมื่อปี 2551 ขึ้นอีก” นายแอนดรูว์ เบิร์นส ผู้จัดการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคโลก ในกลุ่มประเมินแนวโน้มของธนาคารโลกเตือน

ประเด็นเด่นรายภูมิภาค

เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เป็นผู้นำการฟื้นตัวระดับโลก ด้วยอัตราการเติบโตประเมินที่ร้อยละ 9.3 ในปี 2010 อันสืบเนื่องจากการที่เศรษฐกิจจีนโตร้อยละ 10 และนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 การเติบโตของผลผลิตในประเทศอื่นในภูมิภาคนี้แข็งแกร่งด้วยเช่นกันในระดับร้อยละ 6.8 นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในประเทศที่มีระดับรายได้สูงกระตุ้นให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้า โดยที่ตลาดหุ้นของไทยกับอินโดโนเซียโตขึ้นกว่าร้อยละ 40 นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2553 กระแสเงินทุนไหลเข้าส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งขึ้นด้วย แม้ว่าจะมีมาตรการแก้ไขเช่นการสะสมเงินทุนสำรองกับการปรับตัวอื่นๆ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอความเร็วลง การเติบโตเศรษฐกิจของภูมิภาคจะชะลอ แต่ยังคงระดับความแข็งแกร่งไว้ที่ร้อยละ 8.0 ในปี 2554 และร้อยละ 7.8 ในปี 2555

จากการที่เศรษฐกิจในปี 2552 ลดลงไปร้อยละ 6.6 คาดว่าผลผลิตจะขยายตัวร้อยละ 4.7 ในปี 2553 สำหรับยุโรปกับเอเชียกลาง ในห้วงที่หลายประเทศกำลังปรับโครงสร้างอย่างเข้มข้น ผลผลิตในประเทศบัลกาเรีย สาธารณรัฐเคียร์กิซ ลิธัวเนียกับโรมาเนียแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือว่าถดถอยในปี 2553 และประเมินว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2 ในปี 2554 และ 3.3 ในปี 2555 นอกเหนือจากประเทศดังกล่าวแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ทางธนาคารโลกประเมินว่าจะชะลอตัวลงไปอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ในปี 2554 และปี 2555 การฟื้นตัวในภูมิภาคยังคงอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อสถานการณ์ในภูมิภาคยุโรปที่ร่ำรวย ที่ยังคงมีข้อกังวลด้านหนี้ภาครัฐ

ภูมิภาคละตินอเมริกากับคาริบเบี้ยน ฟื้นตัวได้ดีจากวิกฤตโลกเมื่อเปรียบเทียบกับระดับการขยายตัวในอดีตและระดับการฟื้นตัวในภูมิภาคอื่น หลังจากเติบโตร้อยละ 2.2 ในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 5.7 ในปี 2553 อันเป็นระดับเดียวกันกับการเติบโตในยุคเฟื่องฟูเมื่อปี 2547-2550 ประเมินว่าการเติบโตชะลอตัวลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.0 ในปี 2554 เนื่องจากสาเหตุหลักคือปัจจัยภายนอกที่อ่อนแอเพราะเศรษฐกิจของของประเทศที่พัฒนาแล้วกับจีนโตช้าลง หลายประเทศในภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากกระแสเงินทุนไหลเข้าที่ทำให้เสถียรภาพสั่นคลอน เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปและทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างมากซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อสกุลเงินบางสกุล

ด้านประเทศที่กำลังพัฒนาในตะวันออกกลางและอัฟริกาตอนเหนือ การเติบโตระดับปานกลางในปี 2553 สะท้อนให้เห็นถึงทั้งปัจจัยภายนอกที่เอื้อมากขึ้น และผลสืบเนื่องจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในระหว่างปีมีผลดีกับประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งออกน้ำมัน ขณะที่การฟื้นตัวในบางประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรกับการเติบโตในประเทศร่ำรวยในกลุ่ม Gulf Cooperation Council (GCC) ช่วยให้การส่งออกฟื้นตัว พร้อมกับการโอนเงินกลับประเทศและการท่องเที่ยว ภายหลังจากที่เติบโตในระดับร้อยละ 3.3 ในปี 2553 คาดการณ์ว่าภูมิภาคนี้จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระดับร้อยละ 4.3 และ 4.4 ในปี 2554 และ 2555 ตามลำดับ ควบคู่ไปกับการที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัว ตลาดส่งออกมั่นคง และราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง

ภูมิภาคเอเชียใต้ คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.9 ในช่วงปีงบประมาณ 2554-2555 จากพื้นฐานของต้นทุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเติบโตประเมินร้อยละ 8.7 ของปี 2553 ภูมิภาคนี้ได้รับอานิงส์จากมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของบรรดานักลงทุนและผู้บริโภค กับการกลับมาของกระแสเงินไหลเข้า ภูมิภาคนี้ควรดำเนินนโยบายเข้มงวดต่อไปเพื่อแก้ปัญหาภาวะทางการคลังติดลบอย่างหนัก (ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในบรรดาภูมิภาคที่กำลังพัฒนา) อัตราเงินเฟ้อที่สูง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ย่ำแย่

ผลผลิตในอัฟริกาเขตทะเลทรายซาฮารา ขยายตัวในอัตราประเมินร้อยละ 4.7 ในปี 2553 อันเป็นการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งสืบเนื่องจากอัตราเติบโตร้อยละ 1.7 ในปี 2552 ประเทศอัฟริกาใต้ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคมีอัตราการเติบโตร้อยละ 2.7 ในปี 2553 ถูกจำกัดเนื่องจากภาคเอกชนลงทุนน้อยลง ค่าเงินแรนด์แข็งขึ้น และปัญหาการประท้วงนัดหยุดงาน อัตราประเมินการเติบโตของอัฟริกาใต้จะกระเตื้องขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 3.5 และ 4.1 ในปี 2554 และ 2555 ตามลำดับขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจโลกกระเตื้องขึ้น ประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ยกเว้นอัฟริกาใต้มีแนวโน้มที่ดีกว่า โดยที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ขยายตัวประมาณร้อยละ 5.8 ในปี 2553 และคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.4 ในปี 2554 และร้อยละ 6.2 ในปี 2555 ภาคที่ฟื้นตัวได้แข็งแกร่งที่สุดคือผู้ส่งออกโลหะและสินแร่ กับผู้ส่งออกน้ำมัน ที่ได้รับอานิสงส์จากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2011/288/DEC

Api
Api

Welcome